กันยายน 1, 2021

ปัจจัยความเครียดที่มีผลต่อสัตว์น้ำในฤดูร้อน

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

“ฤดูร้อน” เป็นช่วงที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้เลี้ยงสัตว์น้ำอย่างมาก เนื่องจากมักเกิดความเสียหายขึ้นในกับสัตว์น้ำได้ง่ายและรุนแรง ด้วยปัจจัยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงกลางวัน แต่อาจมีพายุฝนในช่วงบ่าย ขาดแคลนน้ำเปลี่ยนถ่าย น้ำในแม่น้ำไม่มีการไหลเวียน และโรคระบาดต่างๆ ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในฤดูร้อนนั้นสร้างผลกระทบกับสัตว์น้ำของเราอย่างไรบ้าง

ผลกระทบของฤดูร้อนต่อสัตว์น้ำ

  1. อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น โดยทั่วไปสัตว์น้ำในเขตร้อนจะมีช่วงอุณหภูมิที่พอเหมาะต่อการดำรงค์ชีวิตอยู่ในช่วง 28-30oC แต่ในช่วงฤดูร้อนที่มีแดดจัด ช่วงบ่ายอุณภูมิของน้ำอาจจะสูงได้มากกว่า 35 oC เมื่ออุณหภูมิสูงเกินช่วงที่เหมาะสมสัตว์น้ำจะเกิดความเครียดขึ้น ทำให้ความอยากอาหารจะเปลี่ยนไป กล่าวคือ หากอุณหภูมิของน้ำอยู่ในช่วง 31-33oC สัตว์น้ำจะอยากกินอาหารมากขึ้นจากปกติ แต่การอยากกินที่สูงขึ้นไม่สัมพันธ์กับความสามารถการย่อยและการดูดซึมของตัวสัตว์น้ำเอง จะสังเกตุได้ว่าเมื่อสัตว์น้ำกินอาหารเพิ่มขึ้น แต่สีของน้ำในบ่อจะเขียวเข้มขึ้นหรือของเสียในน้ำจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลเสียกับตัวสัตว์น้ำเอง แต่หากอุณหภูมิของน้ำสูงจนมากกว่า 34oC สัตว์น้ำจะเริ่มลดความอยากกินอาหารลง และเกิดความเครียดอย่างมาก นอกจากการกินอาหารที่ได้รับผลกระทบแล้วระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำก็จะถูกกดการทำงานลงจากความเครียดนี้ ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
  2. ปริมาณน้ำลดน้อยลง ในฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงและแสงแดดจัด น้ำในบ่อเองถูกระเหยขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ในแม่น้ำลำคลองก็จะพบปัญหาน้ำลดระดับลง และไหลช้าลงจนอาจหยุดนิ่ง แน่นอนว่าเมื่อน้ำลดลงแต่มีสัตว์น้ำปริมาณเท่าเดิม จะเกิดการแย่งใช้อ๊อกซิเจนขึ้นในพื้นที่การเลี้ยง และของเสียที่ขับถ่ายออกมาก็จะมีความเข้มข้นขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์น้ำได้อย่างร้ายแรง มีผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดอากาศและเกิดความเป็นพิษของของเสียได้ทั้งแอมโมเนีย ไนไตรต์ และแก๊สไข่เน่าได้ สร้างความเสียหายได้รุนแรงและฉับพลัน ซึ่งเป็นความเสียหายหลักของฤดูร้อนนี้

Figure 1 น้ำในแม่น้ำปิงที่ลดระดับลงส่งผลต่อกระชังปลานิลแดง

  1. เกิดโรคระบาดได้ง่าย จากปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียดต่อตัวสัตว์น้ำ ร่วมกับคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลง และเป็นช่วงอุณภูมิที่เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อ Streptococcus เป็นต้น ทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่าย และลุกลามได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีการเฝ้าระวังป้องกันที่ดีพอ
  2. อ๊อกซิเจนในน้ำลดต่ำลง เมื่อน้ำอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลให้น้ำเก็บกักอ๊อกซิเจนได้น้อยลง แม้จะมีการสังเคราะห์ด้วยแสงของแพลงค์ตอนพืชสูงขึ้นก็ตาม และสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิดจะมีการใช้อ๊อกซิเจนที่สูงขึ้นตามกิจกรรมที่สูงขึ้น อีกทั้งอาจเกิดพายุฝนในช่วงบ่าย ทำให้ขาดแสงแดดและเกิดภาวะน้ำแยกชั้น ส่งผลให้สัตว์น้ำขาดอ๊อกซิเจนทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้เป็นอย่างมาก
  3. พืชน้ำเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว พืชน้ำในที่นี้ได้แก่ แพลงค์ตอนพืช(น้ำเขียว) สาหร่าย ซึ่งได้รับผลจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ทั้งของเสียที่มากขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสม ปริมาณแสงที่กระตุ้นการเพิ่มจำนวน เมื่อพืชน้ำมีปริมาณมากเกินไป จะเกิดการแย่งอ๊อกซิเจนเมื่อขาดแสง และอาจเกิดน้ำเน่าเสียเมื่อพืชน้ำเริ่มตายลงอย่างรวดเร็ว

Figure 2 น้ำในบ่อปลาดุกที่มีแพลงค์ตอนพืชหนาแน่นในช่วงฤดูร้อน

 

สิ่งที่ควรเฝ้าระวังในฤดูร้อน

  1. พฤติกรรมของสัตว์น้ำ ควรมีการสังเกตุพฤติกรรมที่ผิดปกติไปของสัตว์น้ำ เช่น ความอยากอาหาร ลักษณะการว่ายน้ำ รวมไปถึงการรวมฝูง โดยเฉพาะลักษณะการกินอาหาร และการอ้าปากหายใจ เพราะสิ่งที่จะเตือนถึงความเสียหายเฉียบพลันจากการขาดอ๊อกซิเจนได้
  2. คุณภาพน้ำ ควรมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านกายภาพ (ความขุ่นใส สีน้ำ อุณหภูมิ) และทางเคมี (อ๊อกซิเจน pH ของเสีย และอัลคาไลนิตี้) เพื่อเฝ้าระวังค่าที่ผิดปกติไป จากเดิมมาก

Figure 3 DO meter จะช่วยประเมินปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำได้

  1. ปริมาณอาหารที่ให้ เพื่อควบคุมการใช้อาหาร และเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อ 1 และ 2
  2. ระบบช่วยเหลือต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า เครื่องสำรองไฟ เครื่องสูบน้ำ สารเคมีในการปรับสภาพน้ำ ควรตรวจสอบให้พร้อมใช้งานและมีอย่างเพียงพอ เพื่อเป็นสิ่งช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น

 

แนวทางการจัดการในฤดูร้อน

  1. ควบคุมปริมาณอาหาร ในระยะที่มีสภาวะไม่เหมาะสม และมีทรัพยากรน้ำที่จำกัด การควบคุมอาหารโดยอ้างอิงจาก Feeding program ร่วมกับการใช้อาหารที่เหมาะสม โดยควบคุมอาหารไม่ให้มากจนเกินความจำเป็น มีการลดปริมาณอาหารลง 30-50% ในช่วงที่ภาวะไม่เหมาะสม รวมไปถึงการงดอาหารเมื่อมีความเสี่ยง (วันที่ร้อนจัดมาก ฟ้ามืดครึ้ม คุณภาพน้ำย่ำแย่) การลดอาหารลงในช่วงสั้นๆไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำมากนัก เมื่อสภาพอากาศกลับมาเหมาะสมสามารถเพิ่มปริมาณอาหารได้เล็กน้อยเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตได้
  2. เติมอากาศอย่างเพียงพอต่อความต้องการ การเติมอากาศในช่วงฤดูร้อนสามารถช่วยลดอุณหภูมิของน้ำลงได้จากการคลุกเคล้าน้ำ ลดความเครียดของสัตว์น้ำลงได้ เนื่องจากเมื่อสัตว์น้ำเครียดจะต้องการอ๊อกซิเจนมากขึ้น ควบคุมปริมาณแพลงค์ตอนพืชได้จากการทำให้น้ำหมุนเวียน ช่วงเวลาที่ควรให้อากาศเพิ่มเติมคือช่วงบ่ายที่ร้อนจัด ช่วงหลังสี่ทุ่มจนถึงรุ่งเช้าของ วันถัดไป และช่วงที่ฟ้ามืดครึ้มก่อนฝนตก หากที่ฟาร์มมีเครื่องวัดอ๊อกซิเจนหรือ DO meter สามารถใช้วัดค่าอ๊อกซิเจนที่ละลายในน้ำเพื่อปรับให้เหมาะสมได้แม่นยำขึ้น
  3. เตรียมแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากน้ำเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงสัตว์น้ำ หากมีการวางแผนทำแหล่งน้ำสำรองที่เพียงพอต่อการใช้ตลอดฤดูร้อน อาจทำบ่อเก็บขึ้นมาหรือใช้บางบ่อที่งดการเลี้ยงไว้เป็นบ่อสำรองน้ำ และบางฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิดสามารถใช้การเลี้ยงสัตว์ที่เกือหนุนระบบนิเวซน์กันเพื่อเป็นหน่วยบำบัดและเก็บน้ำได้ เช่น การเลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับบ่อปลานิล เป็นต้น

Figure 4 ระบบให้อากาศแบบ BTG พัฒนาในกระชังปลานิลแดง

  1. การจัดการของเสีย ในภาวะที่น้ำในการเลี้ยงลดลง แต่ของเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจัดการของเสียให้ลดลงหรือเป็นพิษน้อยลงมีความสำคัญมาก อาจให้การให้อากาศเพื่อเร่งขบวนการย่อยสลายของเสีย ดูดของตะกอนของเสียออกจากระบบการเลี้ยง การทำหน่วยบำบัดน้ำในฟาร์มเพื่อบำบัดของเสียแล้วนำน้ำกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยงอีกครั้ง ใช้สารเคมีกำจัดสารอินทรีย์ และใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายของเสีย แต่ควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และลักษณะพื้นที่ของฟาร์มนั้นๆ
  2. การจัดการสุขภาพ เป็นระบบการเฝ้าระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอ โดยมี 2 สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ การทำให้สัตว์น้ำแข็งแรงด้วยการเสริมสารอาหารที่จำเป็นในภาวะที่มีความเครียด เช่น การเริมวิตามิน การเสริมโปรไบโอติค์และพรีไบโอติคส์ การใช้อาหารที่คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม การเสริมเกลือด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องทำเป็นประจำเพื่อให้เกิดผลอย่างต่อเนื่อง และในแง่ของการรักษาหากเกิดความเสียหายขึ้น โดยต้องตรวจจับการเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที และใช้การรักษาที่เหมาะสมกับโรคที่เป็น ควรปรึกษานักวิชาการเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  1. การจัดการคุณภาพน้ำให้เหมาะสม ดังเช่นที่กล่าวในข้อที่เฝ้าระวัง ต้องตรวจสอบเป็นประจำเพื่อให้ไม่เกิดช่วงที่ไม่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำน้อยที่สุด ทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้น้อยที่สุด จะลดโอกาสเกิดความเสียหายได้ดีกว่าการแก้ไขในภายหลังที่เกิดปัญหาแล้ว
  2. วางแผนการเลี้ยงให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่ควรวางแผนตั้งแต่เริ่มทำฟาร์ม ในช่วงฤดูร้อนอาจหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์น้ำในระยะใกล้จับเนื่องจากป็นช่วงที่ใช้ทรัพยากรณ์น้ำมากที่สุด หรือหากจำเป็นต้องเลี้ยงควรพิจารณาลดความหนาแน่นลงหรือมีมาตรการป้องกันความเสียตามที่กล่าวในข้างต้นแล้ว

 

ข้อแนะนำทั้งหมดที่กล่าวในข้างต้นนี้จะเป็นส่วนช่วยทำให้การผลิตสัตว์น้ำที่ต้องคาบเกี่ยวกับฤดูร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกๆปีเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น และจะสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง มีโอกาสที่จะได้ขายผลผลิตในช่วงที่ราคาสูงหลังจากผ่านช่วงฤดูร้อนแล้วได้

 

เรียบเรียงโดย ฝ่ายบริกรวิชาการ (สัตว์น้ำ)