สิงหาคม 16, 2022

หัวใจสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคของสุกร

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

การออกแบบและวางแนวทางปฏิบัติงานในฟาร์ม ที่สอดคล้องกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ คือหัวใจสำคัญของการป้องกันและควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) หมายถึง ระบบการจัดการ และมาตรการทางกายภาพ ที่ดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมโรค
1. โดยการลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม
2. หรือกระจายของเชื้อโรคภายในและออกจากฟาร์ม
3. รวมถึงการแพร่กระจายของโรคในประชากรสัตว์

หลักการความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์ม
ความปลอดภัยทางชีวภาพประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ
– การแยกสัตว์ (isolation)
– การควบคุมการสัญจร (traffic control)
– และสุขอนามัย (sanitation)

การแยกสัตว์ คือ การเลี้ยงสัตว์ในสถานที่ที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อม มีรั้วสำหรับป้องกันสัตว์เข้า และออกจากฟาร์ม รวมถึงการเลี้ยงดูที่มีการแยกกลุ่มสัตว์ที่มีอายุต่างกัน การนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงและนำออกพร้อมกันหมด (all-in/all-out) เพื่อให้มีเวลาในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เป็นการตัดวงจรของเชื้อที่จะก่อโรคภายในฟาร์ม

การควบคุมการสัญจร ซึ่งครอบคลุมทั้งเส้นทางไปสู่ฟาร์มและภายในฟาร์ม เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม แพร่กระจายภายในบริเวณฟาร์ม หรือออกจากฟาร์ม
สุขอนามัย คือ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ สิ่งของ บุคลากร เครื่องมือที่จะเข้ามายังฟาร์ม และความสะอาดของบุคลากรที่อยู่ในฟาร์ม รวมถึงการปฏิบัติต่างๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคภายในฟาร์ม

ความปลอดภัยทางชีวภาพ
นับเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มที่ยังไม่เคยเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และฟาร์มที่เคยโรคแล้วแต่สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งฟาร์มอาจเสียหาย 10-20 % รวมถึงฟาร์มสุกรที่เคยผ่านปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จนต้องคัดทิ้งและสูญเสียสุกรไปหมดทั้งฟาร์ม (Total depopulation) และมีความตั้งใจจะกลับมาเลี้ยงใหม่ โดยการปรับปรุงเล้าและออกแบบระบบความปลอดภัยทางชีวภาพใหม่  อย่างไรก็ตาม คำว่า “ความปลอดภัยทางชีวภาพ” บางครั้งอาจฟังดูเป็นนามธรรม ไม่เข้าใจว่าจะต้องมีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีความถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงอาจไม่เข้าใจว่าจะต้องออกแบบระบบความปลอดภัยทางชีวภาพขนาดใหน อย่างไร จึงจะรอดพ้นจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยเฉพาะฟาร์มขนาดเล็กหรือฟาร์มขนาดลางที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่สำคัญๆ เช่น ไม่สามารถสร้างเล้าขายสุกรหรือที่ขายแยกออกจากฟาร์มได้ หรือไม่มีรถขนส่งสุกรออกมานอกพื้นที่เลี้ยงสัตว์ได้ ทำให้พ่อค้าคนกลางสามารถเข้าไปจับสุกรได้ถึงภายในเล้า จึงทำให้ฟาร์มมีความเสี่ยงในการนำโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ฟาร์มได้ตลอดเวลา

ขออนุญาตนำเสนอขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่ฟาร์มที่สำคัญๆ ที่เป็นความเสี่ยงใหญ่ๆ ที่จะพาเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ฟาร์ม ซึ่งมองว่าเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค โดยนำเสนอขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ง่าย ดังต่อไปนี้

  1. ทุกคน เน้นย้ำว่า “ทุกคน” ไม่มีการยกเว้น ที่จะเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ต้องผ่านห้องพ่นยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำ และเปลี่ยนชุด (เปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้าบูทที่ใช้เฉพาะในพื้นที่เลี้ยงสัตว์) เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรสามารถเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงสัตว์และเข้าไปในเล้าเลี้ยงสุกรได้ โดยปนเปื้อนไปกับคน ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า ผม เล็บ เสื้อผ้า และรองเท้า และภายหลังการใช้งานต้องมีการจุ่มฆ่าเชื้อเสื้อผ้า และรองเท้าบูท และซักให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
  2. การปฏิบัติงานในพื้นที่เลี้ยงสัตว์และภายในเล้า ควรมีรองเท้าบูท 2 คู่ เพื่อแยกการใช้งานระหว่างภายนอกและภายในเล้า และมีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อรองเท้าบูท 2 อ่าง เพื่อแยกอ่างจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับรองเท้าบูทที่ใช้ภายนอกและที่ใช้ภายในเล้า รองเท้าบูทคู่แรกคือรองเท้าบูทที่ใส่มาจากห้องพ่นยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำ และเปลี่ยนชุด รองบูทคู่แรกนี้ถือเป็นรองเท้าบูทที่สัมผัสพื้นที่ภายนอกเล้า ยังมีความเสี่ยงที่จะนำโรคไปสู่สุกรในเล้าได้ เช่น การเหยียบมูลนกหรือสัตว์พาหะต่างๆ หรือสิ่งสกปรกภายนอกเล้า ที่อาจเป็นพาหะของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ จึงต้องถอดรองเท้าบูทคู่นี้ไว้นอกเล้า ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใส่บูทที่ใช้ภายในเล้าแทน
  3. แนะนำให้ฟาร์มสร้างจุดรับส่งสุกรที่บริเวณรั้วฟาร์ม เพื่อป้องกันไม่ให้รถและคนภายในฟาร์ม สัมผัสกับรถและคนที่อยู่นอกรั้วฟาร์ม (แม้ว่ารถและคนที่มารับสุกรจากฟาร์ม จะเป็นรถและคนของฟาร์มก็ตาม) หรือที่เรียกกันว่า จุดทอยสุกรที่รั้วฟาร์ม และหากเป็นไปได้แนะนำให้ สร้างเล้าขายหรือจุดขายสุกรห่างจากพื้นที่ฟาร์ม เช่น เล้าขายอยู่ห่างพื้นที่ฟาร์ม 5 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รถและคนของลูกค้ามารับสุกรที่ฟาร์ม
  4. มีจุดล้างฆ่าเชื้อรถขนส่งลูกค้า ก่อนที่จะไปรับสุกรที่เล้าขาย โดยจุดล้างฆ่าเชื้อรถขนส่งของฟาร์มจะออกใบเสร็จให้รถขนส่งลูกค้า และคนขับรถขนส่งลูกค้าจะต้องนำใบเสร็จไปแสดงที่เล้าขาย จึงจะสามารถรับสุกรได้

สรุป
ความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์มสุกร เพื่อให้ฟาร์มมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรน้อยที่สุดนั้น ควรได้รับการออกแบบและวางแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งการคำนึงถึงผู้ปฏิบัติงานภายในฟาร์มด้วยว่า ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพจะไม่ซับซ้อนจนเกินไปและสามารถปฏิบัติได้ง่าย ทั้งนี้ฟาร์มอาจต้องปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบระบบความปลอดภัยทางชีวภาพดังกล่าว