Articles
รู้ได้อย่างไร เมื่อโคใกล้คลอด
Knowledge ความรู้ทั่วไปเมื่อไรที่เราจะช่วยคลอดโค ?
ระยะการคลอดแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ
ระยะที่ 1 : เตรียมการคลอด (Preparation) อาจกินเวลา 2-6 ชั่วโมงในระยะนี้สิ่งที่จะพบได้คือ ปากมดลูกขยายตัวแรงดันภายในมดลูกมากขึ้นจากลูกที่กลับตัวอยู่ในท่าที่พร้อมคลอด แม่โคจะแยกตัวออกจากฝูงกินอาหารลดลง กระวนกระวาย โคนหางยก หลังโก่ง อวัยวะเพศบวม พบถุงน้ำคล่ำสีขาวโผล่ออกมาบริเวณอวัยวะแพศด้านนอก
ระยะที่ 2 : การคลอด (Birthing) เมื่อถุงน้ำคล่ำที่โผล่มาแตกออกจะเข้าสู่ระยะคลอดที่ 2 อย่างเต็มตัวในช่วงนี้ใช้เวลาตามปกติราวๆ 30-60 นาที หรืออาจน้อยกว่านั้น เมื่อลูกออกมาด้านนอกเกิดภาวะขาดออกซิเจน (hypoxia) เกิดการขยับตัวเคลื่อนที่ของลูกร่วมกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกของแม่จึงทำให้เกิดการคลอดที่สมบูรณ์
ระยะที่ 3 : การขับรก (Placenta expulsion) เมื่อกระบวนการคลอดเสร็จสมบูรณ์ ตัว Cotyledon ของลูกแยกออกจาก Caruncle ของแม่ ทำให้เกิดกระบวนการบีบตัวของมดลูกไล่เอาส่วนรกและน้ำคาวปลาออกมา ในระยะนี้ใช้วลาในทั้งหมด 6-12 ชั่วโมงหากเกินกว่านี้จะถือว่าเข้าสู่ภาวะรกค้าง (Retained placenta)
การดึงช่วยคลอด
ท่าคลอดปกตินั้นสามารถพบได้ทั้งการเอาหัวออกพร้อมขาหน้าสองข้างและกระดูกสันหลังของลูกต้องขนาดกันกับลำตัวหรือกระดูกสันหลังของแม่หากนอกเหนือจากสองกรณีนี้จัดว่าเกิดภาวะคลอดยาก (Dystocia) เช่น คอพับ ขาพับ ลำตัวลูกขวาง เอาขาหลังออก เป็นต้น จำเป็นต้องทำการผ่าคลอดหรือช่วยดึงคลอด
ข้อควระวังในการช่วยคลอด
จำเป็นต้องคล้องเชือกหรือโซ่เหนือและล่างบริเวณข้อเท้าของลูก (Fetlock joint) เพื่อกระจายแรงดันไปทั้งแนวขาช่วยป้องกันการเกิดกระดูกขาหักได้ เมื่อมั่นใจว่าจัดท่าได้แล้วและลูกอยู่ในท่าปกติสำหรับคลอดการดึงจำเป็นจะต้องดึงขาทีละข้างสลับกับอีกข้างตามแรงเบ่งคลอดของแม่เพื่อให้เกิดช่องว่างในการดึงทำให้ลูกออกมาได้เหมือนการคลานออกมาป้องกันการติดหัวไหล่หรือสะโพกของลูกกับช่องเชิงกรานของแม่
ขั้นตอนการตัดสินใจพิจารณาช่วยคลอด
- การประเมินจากสุขภาพและประวัติการเจ็บป่วยของตัวแม่โคในช่วงก่อนคลอด เช่น ปัญหาบริเวณเชิงกรานเคยมีอุบัติเหตุทำให้หักหรือเสียหายมาก่อนหรือไม่ มีภาวะการป่วยแทรกซ้อนในช่วงก่อนคลอดหรือไม่ เคยมีประวัติการคลอดยากมาก่อนหรือไม่ในกรณีที่เป็นแม่โคนาง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหากมีกรณีดังกล่าวจะได้แจ้งสัตวแพทย์ไว้เพื่อจะเตรียมพร้อมช่วยเหลือได้ทันท่วงที
- หากไม่มีประวัติหรืออาการป่วยที่อาจก่อให้เกิดภาวะคลอดยากจากตัวแม่โค เมื่อเข้าสู่ระยะการคลอดให้ตรวจสอบประเมินจังวะการเบ่งคลอดของแม่โคว่ามีการเบ่งคลอดอย่างต่อเนื่องภายใน 20 นาทีหลังจากถุงน้ำคล่ำแตกหรือไม่ หากมีการเบ่งได้ตามปกติและลูกอยู่ในท่าที่ถูกต้องก็จะสามารถคลอดออกเองได้ตามปกติ แต่หากมีการเบ่งคลอดแล้วแต่ไม่ออกหรือไม่มีการเบ่งคลอดเลยอาจจะจำเป็นต้องพิจารณาช่วยคลอด
- ประเมินท่าทางของลูกว่าผิดปกติหรือปกติ หากปกติให้ช่วยดึงลูกโคตามจังวะการเบ่งของแม่ได้พร้อมกับการใช้ขั้นตอนและการเตรียมช่วยลูกโคอย่างถูกต้อง หากเกินกว่า 10 นาทีแล้วไม่สามารถช่วยคลอดได้ให้รีบโทรตามสัตวแพทย์ทันที แต่ในกรณีที่มีความผิดปกติของท่าทางของลูกก่อนคลอดให้พิจารณาว่าที่ฟาร์มมีบุคคลากรที่สามารถจัดท่าของลูกให้ถูกต้องได้หรือไม่ มีประสบการณ์ในการจัดท่าทางที่พบมาบ้างหรือไม่ เคยช่วยคลอดในท่าลักษณะนี้หรือไม่ หากไม่มีและประเมินแล้วไม่สามารถทำได้ให้โทรตามสัตวแพทย์ทันที ในกรณีที่พบลูกที่มีท่าแบบแนวขวางไม่พบทั้งหัวและหาออกมาให้รีบโทรตามสัตวแพทย์เพื่อมาทำการช่วยจัดท่าหรือผ่าคลอดทันที หรือพยายามลองจัดท่าลูกแล้วไม่สามารถทำได้ใน 10 นาทีก็ให้โทรตามสัตวแพทย์มาช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
- เมื่อลูกโคคลอดออกมาแล้วให้ตรวจประเมินความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ทำความสะอาดเช็ดตัวให้แห้งพร้อมกระตุ้นการหายใจ จุ่มสะดือด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน 7% ชั่งน้ำหนักแรกเกิด ป้อนนมน้ำเหลืองให้ไวที่สุดและเคลื่อนย้ายไปในที่ที่ปลอดภัย ในส่วนของแม่ประเมินว่าพบการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ ความเสียหายของตัวมดลูกมีหรือไม่ ช่วยเหลือและรักษาอาการแม่โคร่วมด้วย อาจจะพิจารณาให้ยากลุ่มลดปวดลดอักเสบ กลุ่มยาบำรุงและสารน้ำ กลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พร้อมทั้งสังเกตอาการหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด