Articles
ผลกระทบของภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) ในสัตว์ปีก
Knowledge ความรู้ทั่วไปภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) คือ ภาวะความเครียดของสัตว์ปีกที่ไม่สามารถระบายความร้อนภายในร่างกายที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานร่างกายของสัตว์ปีกลดลง และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของสัตว์ปีก
อุณหภูมิปกติที่สัตว์ปีกอยู่สบายนั้น อยู่ระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส (Ewing et al. 1999) และเป็นที่ทราบกันดีว่าการเลี้ยงสัตว์ปีกในประเทศไทย มีความเสี่ยงต่อภาวะเครียดจากความร้อนได้ง่าย เนื่องจากเป็นประเทศร้อนชื้น ความชื้นที่สูงเกินไปก็เป็นอุปสรรคในการระบายความร้อนของสัตว์ปีก เนื่องจากสรีระของสัตว์ปีกไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อน เมื่อสัตว์ปีกต้องอยู่ในบริเวณอุณหภูมิสูงร่างกายของสัตว์ปีกต้องอาศัยการระบายความร้อนด้วยวิธีการหอบเป็นหลัก เพื่อเพิ่มการระเหยไอน้ำให้นำพาความร้อนจากร่างกายออกไปได้มากขึ้น การเลี้ยงระบบปิดแบบ Evaporative cooling system ที่ใช้หลักการระเหยของน้ำนำพาความร้อนไป เพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน พบว่าถ้าระบบทำความเย็นนี้ทำงานมากจนมีความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนสูงเกินไป ทำให้การระบายความร้อนจากการหายใจโดยการระเหยของไอน้ำได้น้อยลง ทำให้สัตว์ปีกเลี้ยงในระบบปิดเกิดภาวะความเครียดจากความร้อนได้เช่นกัน
ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกควรสังเกตพฤติกรรมสัตว์ปีกเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะเครียดจากความร้อน โดยสามารถสังเกตพฤติกรรมได้ดังนี้ อ้าปากหายใจ, หายใจถี่ , กินน้ำเพิ่มขึ้น, กระพือปีกและกางปีกเพิ่มขึ้น, นอนซึม รวมถึงพบการจิกกันเพิ่มขึ้นเพื่อลดภาวะเครียดจากความร้อน
ผลกระทบของภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) ในสัตว์ปีกโดยตรง ได้แก่
- การกินอาหารลดลง (Feed consumption) เมื่ออากาศร้อนจะพบสัตว์ปีกกินน้ำเพิ่มขึ้น กินอาหารได้น้อยลง
- ผลผลิตไข่ลดลง (Egg production) สืบเนื่องจากกินอาหารลดลง พลังงานสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการสร้างไข่จะไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตไข่ลดลง
- น้ำหนักไข่ลดลง (Egg weight) สืบเนื่องจากกินอาหารลดลง สัตว์ปีกได้รับพลังงานและโปรตีนจากอาหารลดลง
- คุณภาพเปลือกไข่ลดลง (Shell quality) สืบเนื่องจากกินอาหารลดลง ทำให้สัตว์ปีกได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในการนำไปสร้างไข่ อีกทั้งการหอบเพื่อระบายความร้อนของสัตว์ปีก ทำให้รบกวนสมดุลการแลกเปลี่ยนแคลเซียมระหว่างเลือด และท่อนำไข่ส่วนที่สร้างเปลือก
- ความสูงของไข่ขาวลดลง (Albumen height) เปลือกไข่บางขึ้น และการกินน้ำเพิ่มขึ้นทำให้ของเหลวไข่ขาวเพิ่มขึ้น
- การเจริญเติบโตลดลง (Growth) เนื่องจากกินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตจึงช้า
- อัตราการตายเพิ่มขึ้น (Mortality) สามารถพบอัตราตายสูง ถ้าร้อนอย่างฉับพลัน อุณหภูมิร่างกายสูงจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ และระบบเมตตาบอริซึมของร่างกายสัตว์ปีก
- พบสัตว์ปีกจิกกันเพิ่มขึ้น (Cannibalism) อากาศร้อนทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้น
- ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง (Immunosuppression ) จากความเครียดที่เพิ่มขึ้น มีการหลั่งฮอร์โมนความเครียดที่เรียกว่า คอร์ติโคสเตอโรน (Corticosterone) เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เกิดการกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์ปีกตามมา
- สัตว์ปีกพันธุ์ อาจพบเปอร์เซนต์ไข่ฟักลดลง เนื่องจากความสมบูรณ์พันธุ์ของสัตว์ปีกตัวผู้ลดลง
ผลกระทบของภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) ในสัตว์ปีกโดยอ้อม
- ให้วัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เนื่องจากความเครียดกดการทำงานของเซลล์ที่ใช้สร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองต่อวัคซีนที่ให้ไป
- การเจริญเติบโตช้าลง อัตราการแลกเนื้อสูงขึ้น เพื่อตอบสนองจากภาวะเครียด สัตว์ปีกจะแสดงพฤติกรรมระบายความร้อนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียพลังงานที่ได้รับจากอาหารไปกับการแสดงพฤติกรรมเพิ่มขึ้น และเมื่อร่างกายรับพลังงานไม่เพียงพอ ร่างกายจึงต้องสลายพลังงานที่สะสมในกล้ามเนื้อมาใช้ ทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
- กระดูกเปราะหักง่าย เนื่องจากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
- คุณภาพซากเนื้อลดลง จากภาวะสัตว์ปีกเครียดสะสม มักพบลักษณะเนื้อมีสีเข้ม (Dark) เนื้อแน่น (Firm) เหนียวผิดปกติ และผิวหนังแห้งไม่ชุ่มชื้น (Dry)
- ถ่ายเหลว เนื่องจากสัตว์ปีกกินน้ำเพิ่มขึ้นทำให้มีของเหลวในสิ่งขับถ่ายเพิ่มขึ้น
- แกลบเสียง่าย ผลสืบเนื่องมาจากสัตว์ถ่ายเหลว
- เสียค่าน้ำเพิ่มขึ้น จากการกินน้ำเพิ่มขึ้น