กุมภาพันธ์ 27, 2024

โรคในระบบทางเดินหายใจที่มักพบได้ในสุกร

Knowledge ความรู้ทั่วไป

ปัจจัยของการเกิดโรคในสุกร เกิดได้จากตัวสุกร  เชื้อโรค  สิ่งแวดล้อม และการจัดการ หากปัจจัยเหล่านี้มีสภาพที่เอื้อต่อกันแล้ว ปัญหาเรื่องโรคจะเกิดขึ้น เชื้อโรคที่ก่อโรคในสุกรส่วนใหญ่มาจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส   โดยมักจะพบเป็นการติดเชื้อแบบร่วมกัน (Co-infection) เช่น  สุกรติดเชื้อไวรัสก่อน  แล้วเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดอื่นหรือเชื้อแบคทีเรียติดร่วมกันได้   เมื่อสุกรติดเชื้อ  สุกรจะสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าสุขภาพสุกรไม่ดีอยู่แล้ว และ/หรือ สภาพแวดล้อม  การจัดการภายในฟาร์มไม่ดี  ก็จะเอื้อให้สุขภาพสุกรแย่ลงได้   นอกจากนี้ความรุนแรงของเชื้อโรคก็มีผลได้ทั้งการสร้างความเสียหาย   การสร้างภูมิคุ้มกัน และความสามารถในการกำจัดเชื้อ (Georges et al ; 2020)

โรคระบบทางเดินหายใจยังคงเป็นสาเหตุความสูญเสียอย่างมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร   การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความเสียหายในสุกรอนุบาล 47.3% และในสุกรขุน 75.1% ของความเสียหายทั้งหมด (United States Department of Agriculture ; 2015)  โรคระบบทางเดินหายใจส่งผลให้ผู้เลี้ยงเสียรายได้จากสุกรป่วยและตายเพิ่มขึ้น  การเจริญเติบโตลดลง   เพิ่มต้นทุนอาหารสัตว์   เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษา ทั้งค่ายา วัคซีน และค่าแรงงาน (Jeffrey et al; 2019)

รูปที่ 1  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคในสุกร ( ที่มา : ดัดแปลงจาก Review of the speculative role of co‑infections in Streptococcus suis‑associated diseases in pigs. Milan R. Obradovic, Mariela Segura, Joaquim Segalés and Marcelo Gottschalk; 2021.)

โรคในระบบทางเดินหายใจที่มักพบได้ในสุกร

1. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจซับซ้อน (Porcine Respiratory Disease Complex; PRDC ; พีอาร์ดีซี)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อร่วมกันระหว่างเชื้อไวรัสหลายชนิดหรือเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย  โดยมักพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่างเชื้อพีอาร์อาร์เอสไวรัส (PRRSv) เซอร์โคไวรัส (PRCV) เชื้อแบคทีเรียมัยโคพลาสมา (Mycoplasma hyopneumoniae) เชื้อแบคทีเรียแอคติโนบาซิลลัส (Actinobacillus pleuropneumoniae) และ เชื้อแบคทีเรียพาสเจอเรลลา (Pasteurella multocida)

การติดต่อ: จากการสัมผัสโดยตรง ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย

ปัจจัยโน้มนำ:  สุกรได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่สุกรไม่ค่อยสมบูรณ์  ทำให้มีความไวต่อการติดเชื้อต่างๆ ร่วมกับการจัดการที่ไม่ดี เช่น การถ่ายเทอากาศไม่ดี  แอมโมเนียสูง การเลี้ยงหนาแน่น

อาการ: สุกรหลังหย่านม โดยเฉพาะในช่วงอายุ 4-6 สัปดาห์ สุกรป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้ ไม่กินอาหาร ไอ หายใจลำบาก อาจพบปลายหู จมูก และ หาง สีม่วงคล้ำ และ ตายได้  สุกรที่ไม่ตายจะป่วยเรื้อรัง โตช้า และจะพบอาการของโรคติดเชื้อโรคอื่นๆ

การรักษา: ให้ยาลดไข้ และ ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์วงกว้าง (เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน) ยาฉีด เช่น  เซฟติโอเฟอร์,  เอ็นโรฟล๊อกซาซิน, ไทอะมูลิน, อะม็อกซีซิลลิน   ยาละลายน้ำ/ผสมอาหาร เช่น  อะม็อกซีซิลลิน, ไทอะมูลิน, ลินโคมัยซิน

การป้องกัน: ลดปัจจัยโน้มนำที่กดภูมิคุ้มกัน    บำบัดน้ำด้วยคลอรีน  ลดความเครียด  เลี้ยงไม่หนาแน่น ระบายอากาศดี  แอมโมเนียและความชื้นไม่สูง  ใช้วัคซีนเพื่อควบคุมและลดความรุนแรงของโรค เช่น วัคซีนพีอาร์อาร์เอส วัคซีนเซอร์โค

รูปที่ 2 ซ้าย : สุกรป่วยด้วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจซับซ้อน  ; ขวา : ปอดจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจซับซ้อน   พบลักษณะปอดอักเสบ  เยื่อหุ้มปอดหนาตัว

2. โรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมัยโคพลาสมา (Mycoplasma hyopneumoniae)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  มัยโคพลาสมา (Mycoplasma hyopneumoniae)

การติดต่อ: จากการสัมผัสโดยตรง ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย

ปัจจัยโน้มนำ: นำเข้าสุกรสาวมากผิดปกติ  มีการปรับสภาพไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีการปรับสภาพก่อนเข้าฝูง

อาการ: พบได้ในสุกรหลังหย่านม จนถึงขุน  แต่อาการในสุกรหลังหย่านมจะรุนแรงกว่า สุกรจะมีอาการไอแห้ง  นั่งท่าหมาหายใจ  หายใจหอบ  โตช้า แคระแกร็น  ขนหยาบ อาจพบข้อบวมร่วมด้วย อัตราการป่วยสูง อัตราการตายต่ำ  อาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อร่วม (พัฒนากลายเป็นโรคพีอาร์ดีซี)

การรักษา: ให้ยาปฏิชีวนะ ยาฉีด ยาละลายน้ำ หรือ ผสมอาหาร เช่น  ไทอะมูลิน  ไทโลซิน ลินโคมัยซิน

การป้องกัน: ลดปัจจัยโน้มนำที่กดภูมิคุ้มกัน บำบัดน้ำด้วยคลอรีน  ลดความเครียด เลี้ยงไม่หนาแน่น การระบายอากาศดี  แอมโมเนียและความชื้นไม่สูง ใช้วัคซีนเพื่อควบคุม และลดความรุนแรงของโรค

รูปที่ 3 ซ้าย : สุกรป่วยด้วยโรคมัยโคพลาสม่า ; ขวา : พบรอยโรคปอดอักเสบสีเข้ม แข็ง มักจะพบที่ปอดส่วนหน้า (ที่มา : https://www.msdvetmanual.com/respiratory-system/respiratory-diseases-of-pigs/mycoplasmal-pneumonia-in-pigs)

3. โรคสเตรปโตคอคโคสิส (Streptococcosis)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก  สเตรปโตคอคคัส  (Streptococcus suis)

การติดต่อ: จากการสัมผัสโดยตรง ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย  เชื้อโรคเข้าทางบาดแผลที่เกิดจากการ ตัดเขี้ยว  ตัดหู  ตัดหางในเล้าคลอด

ปัจจัยโน้มนำ: เล้าไม่ได้พัก  ทำความสะอาดและพักล้างคอกไม่เพียงพอ หรือ เล้าคลอดสกปรก

อาการ: พบได้ในสุกรหลังหย่านม จนถึงขุน (มักพบช่วงอายุ 5-8 สัปดาห์) และพบได้ในสุกรแม่พันธุ์ สุกรจะมีอาการไข้ น้ำมูกเหลืองข้น ข้อบวม ชักเกร็งจากภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัตราการป่วยสูง อัตราการตายต่ำ

การรักษา: ให้ยาปฏิชีวนะ ยาฉีด ยาละลายน้ำ หรือผสมอาหาร เช่น  อะม็อกซีซิลลิน, เพนนิซิลิน, แอมพิซิลิน

การป้องกัน: ลูกสุกรต้องได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอ  เล้าคลอดสะอาด  มีการล้างพักเพียงพอ กระบวนการตัดเขี้ยว  ตัดหู  ตัดหางลูกสุกรดี เช่น  ฟันเขี้ยวไม่แตก  ลดปัจจัยโน้มนำที่กดภูมิคุ้มกัน   บำบัดน้ำด้วยคลอรีน  ลดความเครียด

รูปที่ 4 ซ้าย : สุกรมีอาการข้อบวม ภายในข้อมีของเหลวสีเหลืองขุ่น; ขวา :  พบรอยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หนาตัว

4. โรคปอดและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Actinobacillosis ; APP)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย  แอคติโนบาซิลลัส (Actinobacillus pleuropneumoniae) 

การติดต่อ: จากการสัมผัสโดยตรง  ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย  ฟาร์มมีการนำเข้าสุกรที่เป็นพาหะ  หรือรับลูกสุกรจากหลายแหล่ง  และเลี้ยงหลายอายุรวมกัน

ปัจจัยโน้มนำ: การจัดการที่ไม่เหมาะสม  เช่น  เลี้ยงสุกรหนาแน่น  อากาศในเล้าถ่ายเทไม่ดี  มีแก๊สสะสมในโรงเรือนสูง

อาการ: สุกรที่ได้รับเชื้อจะตายรวดเร็วภายใน 12 ชั่วโมง   มีอัตราการป่วยและตายสูง > 50% โดยเฉพาะในสุกรขุนช่วง 50-60 กก. มักพบช่วงรอยต่อฤดูฝน และในฟาร์มที่มีการเลี้ยงหนาแน่น  สุกรจะแสดงอาการไอแห้ง ไอเป็นจังหวะสั้นๆ  หายใจด้วยช่องท้อง อวัยวะส่วนปลายมีสีม่วงคล้ำ  พบเลือดออกทางปากและจมูก  มีฟองเลือดในท่อหลอดลม   มีเลือดในช่องอก   ตัวที่ไม่ตายจะกลายเป็นตัวอมโรคและแพร่กระจายเชื้อในฝูง  โตช้า  ประสิทธิภาพการใช้อาหารไม่ดี

การรักษา: กรณีที่ตายเฉียบพลันจำนวนมาก  รีบให้ยาปฏิชีวนะสุกรทุกตัวภายในเล้า  ยาฉีด ร่วมกับ ยาผสมอาหาร หรือ ยาละลายน้ำ เช่น  อะม็อกซีซิลลิน,  เซฟติโอเฟอร์,  ทิลมิโคซิน  และให้ยาลดไข้ร่วมด้วย จะทำให้สุกรฟื้นตัวเร็วมากขึ้น   คัดแยกสุกรป่วยออกทันที   สุกรตัวที่ป่วยมากให้คัดทิ้งเพื่อลดการแพร่เชื้อในฝูง

การป้องกัน: นำเข้าสุกรจากแหล่งปลอดโรค  เลี้ยงแบบเข้าหมด/ออกหมด   ก่อนลงสุกรชุดใหม่  ต้องล้างคอกให้สะอาด  ฆ่าเชื้อ พักคอก 5-7 วัน   ลดปัจจัยโน้มนำ เช่น  การเลี้ยงหนาแน่น  การระบายอากาศภายในโรงเรือน

5. โรคแกลสเซอร์ (Glasser’s disease)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus parasuis

การติดต่อ: ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย

ปัจจัยโน้มนำ: การจัดการที่ไม่เหมาะสม เช่น เลี้ยงสุกรหนาแน่น  อากาศในเล้าถ่ายเทไม่ดี  มีแก๊สสะสม และความชื้นสูงในโรงเรือน

อาการ : พบมากในสุกรช่วงอนุบาลและสุกรเล็ก  สุกรจะไอ  หายใจลำบาก  ยึดคอ  อ้าปาก  ใช้ช่องท้องช่วยหายใจ   โตช้า  ประสิทธิภาพการใช้อาหารไม่ดี

การรักษา : ใช้ยาปฏิชีวนะ ยาฉีด ร่วมกับ ยาผสมอาหาร หรือ ยาละลายน้ำ เช่น  อะม็อกซีซิลิน, เพนนิซิลิน, แอมพิซิลิน, ลินโคมัยซิน และ เตตราซัยคลิน

การป้องกัน : เลี้ยงสุกรไม่หนาแน่น  การระบายอากาศดี   คอกไม่เปียกชื้น  ทำความสะอาด และพักเล้าตามโปรแกรม   ลดความเครียด   ลดปัจจัยโน้มนำที่กดภูมิคุ้มกัน   และบำบัดน้ำด้วยคลอรีน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Obradovic M, Segura M, Segales J and Gottschalk M (2021) Review of the speculative role of co‑infections in Streptococcus suis‑associated diseases in pigs. Vet Res 52:49.
  2. Saade G, Deblanc C, Bougon J, Créhan CM, Fablet C, Auray G, Belloc C, Maridor ML, Gagnon CA, Zhu J, Gottschalk M, Summerfield A, Simon G, Bertho N and Meurens F (2020) Coinfections and their molecular consequences in the porcine respiratory tract. Vet Res 51:80.
  3. https://www.msdvetmanual.com/respiratory-system/respiratory-diseases-of-pigs/mycoplasmal-pneumonia-in-pigs
  4. https://www.pigprogress.net/health-tool/