มีนาคม 30, 2023

10 สัญญาณอันตราย ที่จะทำให้การเลี้ยงสัตว์น้ำเกิดความสูญเสีย

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

เกษตรเลี้ยงปลาแบบมืออาชีพ ควรสังเกตอาการของปลาและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในบ่อ เพื่อจับสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเริ่มเกิดปัญหาขึ้นกับการเลี้ยงแล้ว และวางแผนจัดการแก้ไข อย่ารอจนเกิดปัญหาบานปลาย ปลาตายมาก ป่วยหนัก เพราะหากจัดการปัญหาล่าช้า กว่าจะรู้ แก้ปัญหาได้ ผลผลิตบางส่วนอาจเสียหายหรือทำให้ค่าประสิทธิภาพการผลิตตกต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้นเราควรเรียนรู้เพื่อสังเกตสัญญาณอัตรายกันว่ามีสิ่งใดบ้าง และต้องป้องกัน/แก้ไขอย่างไรให้ทันก่อนสายเกินไป

  • ปลาขาดอากาศ ลอยหัวตอนเช้ามืด
  • ปลาลอยหัวหุบอากาศ ในตอนบ่าย
  • สีน้ำเขียวเข้ม สีน้ำตาล มีซากแพลงก์ตอนตายลอยที่ผิวน้ำมาก
  • สัตว์น้ำกินอาหารลดลงผิดปกติ
  • น้ำมีค่าความเป็นด่างสูงมากๆ (pH สูงจัด)
  • พบปลาตายพร้อมกันจำนวนมาก
  • น้ำในบ่อเลี้ยงมีสีดำ มีกลิ่นเหม็น
  • น้ำมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
  • ปลาตายเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงเกิน 32 องศา
  • น้ำมีปริมาณไนไตรท์เป็นพิษ

1.ปลาขาดอากาศ ลอยหัวตอนเช้ามืด

มักพบปลาลอยหุบอากาศที่ผิวน้ำจำนวนมาก หรือพบปลารวมกันมากบริเวณทางน้ำเข้าบ่อ แสดงว่าคุณภาพน้ำมีค่าออกซิเจนอยู่ในระดับที่ต่ำ

สาเหตุ

  1. ระดับออกซิเจนที่ละลายน้ำอยู่ในระดับต่ำ 0-1ppm\
  2. ปริมาณสัตว์น้ำที่เลี้ยงหนาแน่นสูงเกินกว่าศักยภาพแหล่งน้ำรองรับได้
  3. ฝนตกฟ้าครึ้มต่อเนื่อง พืชและแพลงก์ตอนผลิตซิเจนได้น้อย
  4. อินทรีย์สารในน้ำมาก/อาหารเหลือ/น้ำเน่าเสียมีการใช้ออกซิเจนมาก
  5. แหล่งน้ำมีแพลงก์ตอนพืชหรือสิ่งมีชีวิตอื่นหน่าแน่นสูงเกินไป
  6. เครื่องให้อากาศชำรุด/ไม่เพียงพอ/ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ

การแก้ไข

  1. เพิ่มการให้อากาศ / เพิ่มชั่วโมงทำงาน / เพิ่มจำนวนเครื่องให้อากาศ
  2. เพิ่มการหมุนเวียนน้ำ / ถ่ายน้ำ-เติมน้ำเข้าบ่อ / เปิดมุ้งกันอาหารในกระชัง
  3. งดอาหาร หรือลดอาหารลง เพื่อลดอินทรีย์สารในน้ำ/ลดความต้องการออกซิเจนของปลา
  4. เสริมเกลือแกง ช่วยลดความเครียดปลา/สาดปูนขาวกลางคืน
  5. ลดความหนาแน่นต่อพื้นที่เลี้ยง/แบ่งใส่บ่อ-กระชังอื่น/ย้ายจุดวางกระชัง
  6. พิจารณาจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดตลาดออกขายเพื่อลดความเสี่ยง

2. ปลาลอยหัวหุบอากาศ ในตอนบ่าย

ในตอนบ่ายปกติแสงแดดจัด ระดับออกซิเจนในบ่อมักสูง การพบปลาลอยหัว หุบอากาศที่ผิวน้ำจึงเป็นสิ่งที่ผิดปกติ อาจเกิดจากเหงือกเสียสภาพ หรือ มีสารพิษที่ขัดขวางการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของปลา

สาเหตุ

  1. ค่าแอมโมเนีย, ไนไตรท์ ในน้ำสูง – สารพิษกลุ่มนี้ขัดขวางการรับออกซิเจนของเหงือกปลา
  2. แพลงก์ตอนตายพร้อมกันปริมาณมากๆ จึงไม่มีการสร้างออกซิเจน และการย่อยสลายเพิ่มการใช้ออกซิเจนของบ่อ
  3. ฝนตกฟ้าครึ้มติดต่อหลายวัน อาจส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงสร้างออกซิเจนของแพลงก์ตอนพืช
  4. ปลาเหงือกเน่าจากเชื้อตัวด่าง ทำให้ความสามารถในการหายใจลดลง
  5. อาจมีภาวะการป่วยจากปรสิตที่ทำลายเหงือก/แบคทีเรียในเลือด

การแก้ไข

  1. เพิ่มการให้อากาศ เพื่อช่วยบำบัดน้ำ ช่วยลดปริมาณแอมโมเนีย, ไนไตรท์
  2. เพิ่มการเปลี่ยนถ่ายน้ำ10-30% เพื่อลดปริมาณแอมโมเนีย, ไนไตรท์
  3. งดอาหาร/ ลดอาหาร เพื่อลดความต้องการออกซิเจนหลังกินอาหาร
  4. เพิ่มการหมุนเวียนน้ำ/เปิดมุ้งกันอาหาร เพื่อให้น้ำดีเข้ามาทดแทน
  5. เสริมเกลือแกงช่วยลดความเครียด
  6. รักษาเหงือกเน่าจากเชื้อตัวด่างด้วยการแช่ ฟอมาลีน, ด่างทับทิม, คอปเปอร์ซัลเฟต

3. สีน้ำเขียวเข้ม สีน้ำตาล มีซากแพลงก์ตอนตายลอยที่ผิวน้ำมาก

การที่น้ำมีเมือก มีฟอง อันเกิดจากซากแพลงก์ตอนตายปริมาณมาก แสดงว่าสภาพแวดล้อมในบ่อเริ่มแย่มาก เสี่ยงที่จะขาดออกซิเจนตามมา ส่วนใหญ่เกิดกับบ่อที่มีการจัดการไม่ดี

สาเหตุ

  • เลี้ยงปลาหนาแน่นเกิน จึงต้องมีการให้อาหารปริมาณมากๆ อาจมีการให้อาหารเกินความต้องการของปลา
  • น้ำมีตะกอน/ อินทรีย์สารแขวนลอยในน้ำมาก เกิดการบดบังแสงกัน ทำให้ไม่สามารถเจริญได้
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำน้อยเกินไป/ อินทรีย์สารจึงตกค้างในบ่อมาก
  • ระบบให้อากาศไม่เหมาะสม/ไม่เพียงพอ ทำให้การหนุนเวียนน้ำไม่ดี
  • ขาดจุลินทรีย์ / สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมที่จุลินทรีย์ทำงานในการย่อยสลายอินทรีย์สารในบ่อ
  • ขาดการเตรียมบ่อที่เหมาะสม เช่น พื้นบ่อมีเลนหนา ไม่ตากบ่อนานพอที่จะบำบัดของเสีย จึงเกิดปุ๋ย ที่ทำให้แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนและตายอย่างรวดเร็ว

การแก้ไข

  • เตรียมบ่ออย่างถูกวิธี เพื่อลดของเสียพื้นบ่อ
  • ปล่อยปลาลดลง ให้สอดคล้องระบบการจัดการ และแหล่งน้ำ
  • ปรับการให้อาหารให้สอดคล้องน้ำหนักปลา อย่าให้อาหารเหลือ
  • งดอาหาร/ ลดอาหาร เพื่อลดอินทรีย์สารสะสมในบ่อ
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งละ 30-50% , ปรับรอบการถ่ายน้ำให้เร็วขึ้น
  • เพิ่มการให้อากาศในบ่อ ให้จุลินทรีย์บำบัดอินทรีย์สารได้ดีขึ้น
  • ปรับ pH น้ำให้เป็นกลางด้วยวัสดุปูน ช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้
  • ใส่จุลินทรีย์บ่อยๆ ช่วยให้การบำบัดน้ำได้อย่างต่อเนื่อง
  • เสริมเกลือแกงช่วยลดความเครียดปลา

 4. สัตว์น้ำกินอาหารลดลงผิดปกติ

การกินอาหารมักเกิดจากความต้องการสารอาหารของปลา โดยมีขีดจำกัดของกระเพาะอาหาร และคุณภาพน้ำเป็นตัวควบคุม การที่ปลากินอาหารลงลงเสี่ยงที่จะได้สารอาหารลดลง และโตช้า

สาเหตุ

  • อุณหภูมิน้ำลดลง <25 องศาเซลเซียส การกินอาหารลดลง เมื่ออุณหภูมิน้ำลดลงถึงจุดหนึ่ง ปลาจะไม่กินอาหาร
  • ค่าแอมโมเนีย, ไนไตรท์ สูง กระทบความอยากกิน
  • ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ <3ppm กระทบความอยากกิน
  • เริ่มมีภาวะการป่วยจากปรสิต/แบคทีเรียในเลือด ปลาจะกินอาหารลดลง และจะหยุดกินอาหารเมื่อป่วยหนัก

การแก้ไข

  • งดอาหาร/ ลดอาหาร หากเห็นว่ากินอาหารลดลง เพื่อน้ำจะได้ไม่เสียจากอาหารที่เหลือ
  • ประเมินสาเหตุที่ปลากินอาหารลดลง แล้วแก้ไข/ปรับตัวรับ
  • อุณหภูมิน้ำลดต่ำลง ปรับลดการให้กินอาหารลดลงตามความต้องการปลา
  • ฤดูหนาว อากาศเย็น ควรเสริมไวตามินซี ไวตามินรวม เพื่อกระตุ้นการกิน ลดการขาดสารอาหาร
  • เพิ่มการให้อากาศ รักษาระดับออกซิเจนในน้ำ >4ppm
  • เพิ่มการเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยรวมและกระตุ้นการกิน
  • เสริมเกลือแกงช่วยลดความเครียด ลดพิษของแอมโมเนีย, ไนไตรท์
  • หากเกิดจากภาวะการป่วยจากปรสิต ให้สาดแช่สารเคมีเพื่อฆ่าปรสิตภายนอก
  • หากมีภาวะการป่วยจากแบคทีเรียในเลือด ให้ผสมยาปฏิชีวนะในอาหาร

5. น้ำมีค่าความเป็นด่างสูงมากๆ (pH สูงจัด)

pH ปกติที่ส่งเสริมการเติบโตอยู่ในช่วง 6.5-8.5 หาก pH สูงจัด อาจ >10 เนื่องจากสมดุลย์ตามธรรมชาติในการควบคุม pH ยังไม่เกิดสร้างความเครียดให้กับปลา และทำให้ปลาป่วยได้หากไม่แก้ไข

สาเหตุ

  • ส่วนใหญ่เกิดกับบ่อที่ขาดการเตรียมบ่อที่ดี เช่น ไม่ตากบ่อ ไม่หว่านปูนพื้นบ่อ
  • น้ำมีแพลงก์ตอนหนาแน่นสูง สีน้ำเขียวสด หรือน้ำใส มีสีเขียวเฉพาะผิวหน้าน้ำ
  • น้ำมีค่าอัลคาไลน์นิตี้ต่ำมาก/ขาดการใส่วัสดุปูนอย่างเหมาะสม จึงขาดตัวคุมสมดุลความเป็นกรดด่าง
  • แหล่งน้ำใหม่ น้ำฝน น้ำอ่อน น้ำขาดความอุดมสมบูรณ์
  • ขาดสมดุลของจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ เนื่องจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์จะสร้างสภาพกรดอ่อนมาควบคุมความเป็นกรดด่างของน้ำ

การแก้ไข

  • ตรวจสอบน้ำให้ระดับอัลคาไลน์ต้อง >100ppm โดยใส่วัสดุปูนเพิ่ม
  • ใส่จุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
  • ใส่กากน้ำตาลเพิ่ม เพื่อส่งเสริมการขยายปริมาณจุลินทรีย์ในบ่อ แต่ต้องค่อยๆใส่ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดอากาศฉับพลัน
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ ด้วยน้ำที่ pH ต่ำกว่า
  • เพิ่มการให้อากาศ เพื่อช่วยบำบัดน้ำและให้จุลินทรีย์ทำงานอย่างต่อเนื่อง

6. พบปลาตายพร้อมกันจำนวนมาก

การตายเล็กน้อย  ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการตายตามปกติ เพราะปกติไม่ควรตาย และเราไม่ควรปล่อยปลาเพิ่มจนแน่น แล้วเผื่อว่าจะมีการตายบ้าง จึงควรรีบหาสาเหตุของการตายให้พบตั้งแต่ต้น ก่อนพบการตายมากๆ

สาเหตุ

  • ขาดการเตรียมบ่อที่ดี พื้นก้นบ่อ/แหล่งน้ำ มีตะกอนเน่าเสียสะสมมาก ทำให้ปลาเครียด
  • อากาศร้อนจัดแล้วมีฝนตกหนักมาก น้ำเน่าก้นบ่อซึ่งมีไฮโดรเจนซัลไฟล์จะถูกดันขึ้นผิวน้ำ
  • ออกซิเจนเริ่มต่ำ ปลาจะลอยหัวและมักทะยอยตาย ก่อนตายพร้อมกันมากๆ
  • แอมโมเนีย ไนไตรท์เริ่มสูง ปลาอ่อนแอและปลาทะยอยตาย ก่อนตายพร้อมกันมากๆ
  • ไฮโดรเจนซัลไฟล์,ไนไตรท์สูงระดับเป็นพิษ ปลามักตายพร้อมกันจำนวนมาก
  • อุณหภูมิน้ำสูงเกินไป ปลาจะลอยหัว อ้าปากค้าง ทะยอยตาย ก่อนตายพร้อมกันมากๆ
  • ได้รับพิษจากสารเคมีเกษตรปริมาณน้อยทะยอยตาย หากเข้มข้นจะตายพร้อมกัน

การแก้ไข

  • ลด/งดการให้อาหาร พร้อมประเมินสาเหตุการตายและการแก้ไขต้นเหตุ
  • เพิ่มการให้อากาศ/ เปิดมุ้งกั้นอาหารในกระชัง
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ/เพิ่มระดับน้ำเพื่อเจอจางสารพิษ
  • ตักปลาตายขึ้นฝั่งทำลายลดการเน่าเสียของน้ำ
  • ใส่เกลือแกงช่วยลดความเครียด ลดความเป็นพิษของแก็ซพิษต่าง
  • ถ้าเกิดการตายจากสารเคมีการเกษตร ให้สาด EDTA

7. น้ำในบ่อเลี้ยงมีสีดำ มีกลิ่นเหม็น

สีน้ำที่ดำ คล้ำ และมีกลิ่นเหม็นกาซไข่เน่า เรามักพบว่าพื้นบ่อมักเกิดฟองแก็ซผุดขึ้นมาจากก้นบ่อ ดินเลนก้นบ่อมีสภาพดีดำ อันเกิดจากการย่อยสลายอินทรีย์สารแบบขาดออกซิเจน จนเกิดไฮโดรเจนซัลไฟล์ที่เป็นพิษเฉียบพลันกับปลาขึ้น

สาเหตุ

  • มีพื้นฐานมาจากการเตรียมบ่อไม่เหมาะสม ไม่ตากบ่อ ไม่พักบ่อ ไม่ลอกเลน
  • มีการเลี้ยงปลาหนาแน่น / มีการใช้อาหารปลาปริมาณมาก แต่ขาดระบบการจัดการของเสียก้นบ่อ
  • บ่อเลี้ยงเคยแพลงก์ตอนหนาแน่นสูง สีเขียวเข้มมาก่อน ซากแพลงก์ตอนมักเน่าอยู่ก้นบ่อ
  • มีการถ่ายน้ำน้อย อินทรีย์สารสะสมในบ่อปริมาณมาก จนน้ำมีตะกอนแขวนลอยมาก บดบังการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช ทำให้พื้นบ่อขาดออกซิเจน มีการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ได้ไฮโดรเจนซัลไฟล์ซึ่งเป็นพิษ
  • ไม่มีการให้อากาศที่เพียงพอ ปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำมาก

การแก้ไข

  • ลดปริมาณอาหารลง/อย่าให้อาหารจนเหลือ
  • รักษาระดับ >pH 7 เพื่อลดความเป็นพิษไฮโดรเจนซัลไฟล์
  • ใช้วัสดุปูน ซีโอไลท์ ปูนจับตะกอน ช่วยตกตะกอนอินทรีย์สารลงก้นบ่อ
  • ถ่ายน้ำที่ก้นบ่อ เพื่อเอาตะกอนของเสียออกจากบ่อ
  • เพิ่มการให้อากาศต่อเนื่อง เพื่อช่วยบำบัดน้ำ
  • ใส่จุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
  • ใส่เกลือแกงเพื่อลดความเป็นพิษของ ไฮโดรเจนซัลไฟล์

8. น้ำมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน มักใช้เป็นตัวแทนสภาพแหล่งน้ำที่เริ่มเสื่อมโทรม จนถึงเสื่อมโทรมมาก เมื่อเกิดสาหร่ายชนิดนี้ขึ้น สาหร่ายชนิดอื่นๆจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากขยายพันธ์รวดเร็วและมักตายพร้อมๆกันปริมาณมาก จนทำให้น้ำเสีย และบางสายพันธุ์อาจปล่อยสารพิษที่ทำให้สัตว์น้ำตาย หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้

สาเหตุ

  • มีพื้นฐานมาจากการเตรียมบ่อไม่เหมาะสม
  • มีการเลี้ยงปลาหนาแน่น / มีการใช้อาหารปลาปริมาณมาก
  • มีการถ่ายน้ำน้อย อินทรีย์สารสะสมในบ่อปริมาณมาก
  • อุณหภูมิสูงจะมีพวกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวมาก
  • น้ำมีตะกอนแขวนลอยมากแพลงก์ตอนพืชชนิดอื่นเจริญได้ยาก
  • ไม่มีการให้อากาศที่เพียงพอ

การแก้ไข

  • ลดปริมาณอาหารลง/อย่าให้อาหารเหลือ
  • ใช้วัสดุปูน ซีโอไลท์ ปูนจับตะกอน ช่วยตกตะกอนอินทรีย์สารลงก้นบ่อ
  • ถ่ายน้ำที่ก้นบ่อ เพื่อเอาตะกอนของเสียออกจากบ่อ
  • เพิ่มการให้อากาศต่อเนื่อง เพื่อช่วยบำบัดน้ำ
  • ใส่จุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง

9. ปลาตายเมื่ออุณหภูมิน้ำสูงเกิน 32 องศา

อุณหภูมิน้ำปกติ 28-32˚ซ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต หากน้ำร้อนขึ้น เกิน 32˚ซ สัตว์น้ำต้องปรับตัว ต้องใช้พลังงานมากในการปรับสมดุลย์ของร่างกาย จึงเครียดจัด หากสภาพเช่นนี้ยาวนาน ทำให้อ่อนแอและตายได้

สาเหต

  • เมตาบอลิซึมของปลาสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิน้ำสูง เช่น การหายใจ, การว่ายน้ำ, การกิน, การย่อยของอาหาร, การขับถ่ายและการเต้นของหัวใจ
  • การถ่ายเทและรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย  ทำให้ระบบการควบคุมขับถ่ายน้ำและแร่ธาตุภายในร่างกาย (Osmoregulatory system) ผิดปกติไปทำให้ร่างกายอ่อนแอและตายได้
  • แสงแดดจัด อุณหภูมิน้ำสูง แพลงก์ตอนพืช และจุลินทรีย์เจริญมาก
  • อุณหภูมิน้ำสูง ทำให้ปลาได้รับสารพิษได้เร็ว

การแก้ไข

  • บ่อเลี้ยงปลาระดับให้น้ำควรลึก 1.2-2.0 เมตร
  • ควรมีระบบให้อากาศเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ ลดการแบ่งชั้นของน้ำ
  • อากาศร้อนควรให้อาหารลดลง
  • การเลี้ยง การขนย้ายปลา อย่าให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

10. น้ำมีปริมาณไนไตรท์เป็นพิษ

น้ำที่มีไนไตรท์สูง แสดงถึงการย่อยสลายอินทรีย์สาร หรือเศษอาหาร ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ โดยจุลินทรีย์จะเปลี่ยนเป็นรูปแอมโมเนีย ไนไตรท์ และไนเตรท แต่ถ้ามีระดับออกซิเจนไม่พอการย่อยสลายจะได้ไนไตรท์ที่เป็นพิษกับสัตว์น้ำ แทนที่จะเป็นไนเตรท ที่ปลอดภัยกว่า

สาเหตุ

  • บ่อเลี้ยงมีปริมาณอินทรีย์สารสูง อาจเกิดจากเตรียมบ่อไม่ดี หรือเลี้ยงปลาหนานแน่น ให้อาหารมาก และมีการย่อยสลายอินทรีย์สารแบบไม่ใช้ออกซิเจน
  • อาจไม่มีการให้อากาศที่มากเพียงพอ อาจมีจุดที่อับอากาศเกิดขึ้นในบ่อ เช่น กลางบ่อ พื้นบ่อ
  • อาจมีสภาพแวดล้อมในบ่อที่ไม่เหมาะสมต่อการย่อยสลายสารประกอบไนโตรเจน

การแก้ไข

  • เพิ่มการให้อากาศ
  • ควบคุมการให้อาหารอย่าให้เหลือ
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำ เพื่อลดอินทรีย์สารในบ่อ
  • เสริมเกลือแกงในระบบการเลี้ยงเพื่อช่วยลดความเป็นพิษของไนไตรท์
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการย่อยสลาย