สิงหาคม 18, 2023

การเตรียมกระชังในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

Knowledge ความรู้ทั่วไป

การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง สามารถปล่อยปลาลงเลี้ยงได้หนาแน่นและลงปลาได้หลายขนาดตามความเหมาะสม ซึ่งสะดวกในการดูแลจัดการต่างๆระหว่างการเลี้ยงได้ดี มีการลงทุนต่ำกว่าการเลี้ยงรูปแบบอื่นๆ แต่การเลี้ยงปลาในกระชังก็มีปัจจัยหลายอย่างซึ่งต้องมีความเข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังมีประสิทธิภาพสูงสุด

แหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชัง

แหล่งน้ำ ที่จะเลี้ยงปลาในกระชังได้นั้น สิ่งสําคัญ คือ น้ำต้องมีคุณภาพดีและมีเพียงพอ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ลําคลอง หนอง บึง บ่อ ซึ่งมีข้อควรพิจารณาสําหรับการวางกระชัง ดังนี้

  1. แหล่งน้ำ เมื่อกางกระชังออกแล้วพื้นก้นกระชังต้องอยู่สูงกว่าพื้นท้องน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร กระชังจะต้องอาศัยการถ่ายเทของกระแสน้ำหมุนเวียนผ่านกระชัง จึงควรอยู่ที่โล่งแจ้ง ไม่มีร่มไม้และพรรณไม้น้ำอยู่หนาแน่น ควรศึกษาประวัติของแหล่งน้ำในรอบปีก่อน เช่น กระแสน้ำ ความขุ่น ปริมาณน้ำ
  2. คุณสมบัติของน้ำต้องดีห่างไกลแหล่งน้ำเสีย สารพิษ เช่น จากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน แหล่งเกษตรกรรมที่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชเป็นจํานวนมากที่จะเกิดอันตรายต่อปลาที่เลี้ยงหรือมีสารพิษตกค้างสะสมในเนื้อปลาซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  3. มีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน มีการคมนาคมสะดวก
  4. เป็นแหล่งน้ำที่ทางราชการประกาศเป็นที่อนุญาตและไม่ขัดต่อกฎหมาย
  5. การตั้งหรือการผูกกระชังในแหล่งน้ำสาธารณะจะต้องไม่กีดขวางเส้นทางสัญจรทางน้ำ แหล่งน้ำ ที่มีการเก็บน้ำเพื่อสาธารณูปโภคหรือกิจกรรมอื่นใดก็ตามจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของแหล่งน้ำนั้นก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการใช้แหล่งน้ำนั้น
  6. ห่างไกลสิ่งรบกวน ไม่ควรอยู่ใกล้ชุมชนมากเกินไป การสัญจรทางน้ำพลุกพล่าน เพราะจะทําให้ปลาเครียดซึ่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และปราศจากโจรผู้ร้าย
  7. แรงงานหาได้ง่าย

ชนิดของกระชัง

ปัจจุบันการเลี้ยงปลามีการพัฒนารูปแบบและวัสดุที่ใช้ทํากระชังไปหลากหลาย ตามแต่วัตถุประสงค์ กระชังที่ใช้เลี้ยงปลา สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. กระชังประจําที่ กระชังแบบนี้จะมีการผูกยึดตัวกระชังติดกับเสาที่ปักไว้กับพื้นดินใต้น้ำ ตัวกระชังไม่สามารถลอยขึ้นตามระดับน้ำ ได้เหมาะสําหรับแหล่งน้ำที่ระดับลึกไม่เกิน 2 เมตร นิยมใช้สําหรับการเลี้ยงและการอนุบาลลูกปลา
  2. กระชังลอยน้ำ กระชังแบบนี้ตัวกระชังจะถูกแขวนอยู่บนแพหรือทุ่นลอยน้ำ เหมาะสําหรับแหล่งน้ำที่มีระดับความลึกมากกว่า 2 เมตร กระชังแบบนี้ทําด้วยอวนไนลอน เป็นคอกสี่เหลี่ยมคล้ายมุ้งหงาย 4 ท้อง เชือกด้านบนจะมัดติดกับแพหรือทุ่นลอย ด้านล่างมีวัสดุที่มีน้ำหนักถ่วงไว้หรือทําโครงกระชังด้วยเหล็กเส้น ขนาด 1 นิ้วเพื่อให้กระชังคงรูปอยู่ได้และไม่ลู่ไปตามกระแสน้ำ วางหรือผูกติดแพกับทุ่นลอย กระชังลอยน้ำสามารถทําได้ทั้งการเพาะพันธุ์การเลี้ยงและการอนุบาลลูกปลาแบบครบวงจรได้

รูปร่างและขนาดของกระชัง

  • รูปร่างของกระชัง ที่ใช้เลี้ยงปลานิลโดยทั่วไปจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะทําได้ง่าย การจัดวางไม่ยุ่งยากและการถ่ายเทของน้ำได้ดี
     
  • ขนาดกระชัง ขนาดที่ใช้ขึ้นอยู่กับความต้องการและขนาดพื้นที่ที่วางกระชัง ขนาดที่นิยมใช้คือ 3x3x2 เมตร และขนาด 5x5x2 เมตร เพราะเมื่อนําไปวางผูกติดกับแพหรือทุ่นลอยที่มีโครงทําด้วยเหล็กเส้นจะวางได้พอดีและเป็นขนาดที่การจัดการดูแลทําได้ง่ายและสะดวก

เทคนิคเพิ่มเติม…เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง

  1. ทําตาข่ายปิดป้องกันนกกินปลาและปลากระโดดออกนอกกระชังหรือปลาภายนอกกระโดดเข้ากระชัง
  2. เว้นช่องระหว่างกระชังเพื่อให้น้ำถ่ายเทสะดวก และติดตั้งเครื่องให้อากาศเพื่อเพิ่มการไหลผ่านและปริมาณออกซิเจน
  3. ทําที่กันอาหารเล็ดลอดออกนอกกระชังด้วยมุ้งเขียว

ปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับกระชัง

แม้ว่าการเลี้ยงปลาในกระชังจะมีข้อได้เปรียบหลายประการ แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคและข้อจํากัดของการเลี้ยงด้วยเช่นกัน ดังนี้

  1. กระแสน้ำที่แรงในช่วงฤดูน้ำหลาก อาจสร้างความเสียหายให้กับกระชังได้
  2. สิ่งที่รอยมากับน้ำ เช่น ขอนไม้ กิ่งไม้ อาจจะทำให้กระชังเสียหายหรืออวนฉีกขาดได้
  3. กระแสลมที่รุนแรง อาจส่งผลให้กระชังขาดลอยไปในทิศทางที่ไม่ต้องการได้
  4. ป้องกันการลักขโมยปลาจาก ขโมยได้ค่อนข้างยาก