Articles
โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and mouth disease)
แนวทางป้องกันและควบคุมโรค1.โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากอะไร
เกิดจากเชื้อไวรัสสกุล Aphthovirus ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ชนิดในประเทศไทย พบ 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดโอ เอ และเอเซียวัน(ชนิดเอเซียวัน พบระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2540)
เชื้อไวรัสแต่ละชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคปากและเท้าเปื่อยนั้นจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคซึ่งกันและกัน ดังนั้นสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเฉพาะชนิด O จะสามารถเกิดโรคที่เกิดจากชนิด A และ Asia 1
2.สัตว์ชนิดใดบ้างที่สามารถติดเชื้อได้
สัตว์กีบคู่ เช่น
- โค กระบือ สุกร จะแสดงอาการค่อนข้างรุนแรง
- แพะ แกะ มักไม่ค่อยแสดงอาการแต่จะเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อสู่สัตว์กีบคู่อื่นๆได้
3.สัตว์ที่ติดเชื้อมีอาการอย่างไร
โดยทั่วไปสัตว์ที่เป็นโรคปากและเท้าเปื่อยมักมีอัตราการตายที่ต่ำ ยกเว้นในลูกสัตว์ขนาดเล็กที่อาจเสียชีวิตได้ง่าย ในสัตว์ที่ไม่เคยได้รับฉีดวัคซีนมักแสดงอาการรุนแรง ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสุขภาพนานและกระทบต่อผลผลิตภายในฟาร์ม สัตว์บางตัวอาจไม่สามารถกลับมามีผลผลิตได้เหมือนเดิม
ในระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย 2 – 8 วัน สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร พบตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปาก ลิ้น เหงือก หรือเพดาน หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และทำให้เกิดเนื้อเยื่อหลุดลอก ทำให้สัตว์เจ็บปวด กินอาหารลำบากจนกระทั่งไม่สามารถกินอาหารได้
ในระยะที่สอง เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวหนังบริเวณไรกีบและร่องกีบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองขังอยู่ภายในจากนั้นแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณไรกีบหรือซอกกีบ ซึ่งอาจเปื่อย ผิวหนังหลุดลอก และอาจทำให้แสดงอาการเจ็บกีบ เดินขากะเผลก หรือลุกยืนลำบากตามมาได้
นอกจากนั้นหากเกิดในโคนมจะส่งผลต่ออัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกรจะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้และระยะเวลาในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กำลังท้อง อาจทำให้สัตว์เกิดการแท้งและมีปัญหาการผสมไม่ติดตามมาได้ ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อ อาจแสดงอาการความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานโรค ความแข็งแรงของตัวสัตว์ และปริมาณเชื้อโรคที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย
4.โรคปากและเท้าเปื่อยติดต่อได้อย่างไร
เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หรือ การหายใจเอาเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเข้าไป โดยผ่านการรับเชื้อจากทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
4.1 การได้รับเชื้อทางตรงจากการสัมผัสจากสัตว์ป่วยโดยตรง หรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำนม น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของเหลวจากตุ่มใส สัตว์ป่วยสามารถขับไวรัสออกมาได้แม้จะไม่แสดงอาการป่วย หรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรค สำหรับสัตว์ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไว้แล้ว เมื่อไวรัสติดต่อเข้าไปจะไม่มีผลทำให้สัตว์แสดงอาการของโรค แต่สัตว์ตัวนั้นจะมีเชื้ออยู่ในตัว ซึ่งหมายถึงว่าสัตว์ตัวนั้นอาจเป็นพาหะของโรคได้
4.2 การได้รับเชื้อทางอ้อมที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสัตว์ คน เสื้อผ้า รองเท้า สัตว์เลี้ยง อาหาร หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ภายในคอกสัตว์
5.การรักษา
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อเชื้อ ดังนั้นหากไม่มีโรคอื่นๆหรือการติดเชื้อแทรกซ้อน แผลจะสามารถหายเองได้ภายในใน 1-2 สัปดาห์ หากแผลมีการติดเชื้อ ควรทำความสะอาดแผล ขจัดคราบหนองและเนื้อตายออกให้สะอาด และใส่ยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับใส่แผลสดหรือแผลภายนอกเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- สำหรับแผลภายนอกบริเวณ กีบและเต้านม เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือสเปรย์พ่นแผลภายนอกที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
- สำหรับที่ปาก ป้ายด้วยยา เจนเชียนไวโอเลท
หากพบว่าสัตว์ป่วยมีอาการติดเชื้ออื่นๆแทรกซ้อน และพบอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง หอบหายใจแรง ซึม ไม่กินอาหาร สามารถพิจารณาให้ยาฉีดชนิดอื่นร่วมด้วยได้ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เช่น
- กลุ่มต้านการอักเสบ ลดปวด ลดไข้ เช่น Flunixin meglumine, Ketoprofen, Tolfedine เป็นต้น
- ยาปฏิชีวนะ เช่น Pendristrep, Amoxycillin, Oxytetracycline เป็นต้น
6.การป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ทำได้อย่างไร
6.1 ป้องกันโรคเข้าฟาร์มโดยเน้นหลักระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)
- งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หากมีการนำสัตว์ใหม่เข้ามาควรมีการพักกักโรคในบริเวณที่หากไกลจากคอกสัตว์ เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์
- ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม
- จำกัดการเข้าออกของยานพาหนะที่จะเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่มีการเข้าฟาร์มหลายแห่ง เช่น รถขนขี้วัว รถรับซื้อโค รถขนฟาง รถขนอาหาร เป็นต้น
- เลือกซื้ออาหารจากแหน่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด
- ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ เช่น Glutaraldehyde (Biostop®), Sodium hypochlorite (Haiter®), โซดาไฟ(Sodiumhydroxide) เป็นต้น โดยทำความสะอาดพื้นผิวที่จะฆ่าเชื้อให้ปราศจากอินทรียวัตถุก่อนแล้วจึงลงน้ำยาฆ่าเชื้อตามอัตราส่วนและระยะเวลาที่ฉลากแนะนำ
6.2 สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้สัตว์
ฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยครั้งแรกตั้งแต่ลูกโคอายุ 4 เดือน และฉีดกระตุ้นซ้ำภายหลังจากฉีดครั้งแรก 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดวัคซีนตามรอบทุก 4 เดือน
เหตุใดฉีดวัคซีนเป็นประจำตามรอบแล้วยังเกิดโรค
- ความคุ้มโรคของวัคซีนไม่สามารถคุ้มกันโรคได้ 100% เนื่องจากกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์แต่ละตัวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สัตว์ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด
- หากพื้นที่ใดมีเชื้อไวรัสอยู่ในพื้นที่ในปริมาณมาก เช่น มีการนำเชื้อไวรัสเข้าฟาร์ม เมื่อภูมิคุ้มกันที่สัตว์ไม่สูงพอทำให้มีโอกาสเกิดโรคได้ แต่อาการและความเสียหายจะไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน
7.ทำอย่างไรเมื่อพบสัตว์ป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อย
- แยกสัตว์ป่วยออกจากตัวที่ยังไม่พบอาการ และทำการรักษาตามอาการ
- งดการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยออกนอกฟาร์ม
- แจ้งสัตวแพทย์ในพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ/จังหวัด/เขต สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เป็นต้น