ตุลาคม 19, 2022

เตรียมพร้อมหลังน้ำลด กู้วิกฤตน้ำแดง

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

ฤดูน้ำแดง” หลายคนอาจไม่เคยได้ยินและสงสัยว่าฤดูนี้มีด้วยหรือ เพราะส่วนใหญ่เราจะรู้ว่า ถ้าเป็นประเทศในเขตร้อนอย่างประเทศไทยของเราจะมีสามฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แล้ว “ฤดูน้ำแดง” คืออะไร เกิดขึ้นที่ไหน คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่เป็นชาวประมงเมื่อกล่าวถึง “ฤดูน้ำแดง” จะรู้กันดีว่าหมายถึงอะไร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอาชีพของพวกเขาโดยตรง

ฤดูน้ำแดง” หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้้าลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณฝนจำนวนมากที่ตกหนัก ชะล้างหน้าดินและ พัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ส่วนมากแล้วจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี

การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและคุณภาพน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลต่อปลาอย่างไร

สภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลที่มีความแตกต่างกันของอุณหภูมิความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และปริมาณนํ้าฝนล้วนส่งผลต่อคุณภาพนํ้าในการเลี้ยงสัตว์นํ้าซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดผลผลิตสัตว์นํ้า

อุณหภูมินํ้าจะมีผลต่ออุณหภูมิในร่างกายของสัตว์นํ้าซึ่งปรับตามอุณหภูมิสภาพแวดล้อม อัตราการเจริญเติบโต การกินอาหาร อัตราการแลกเนื้อ และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตการ สืบพันธุ์และอัตรารอดของสัตว์นํ้าลดลงและการเกิด โรคเพิ่มขึ้น

อุณหภูมิของนํ้าที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาลส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตของปลา อุณหภูมิที่

เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์นํ้าในเขตร้อนอยู่ที่ 25-32 °C ขึ้นกับชนิดสัตว์นํ้า

  • เมื่ออุณหภูมินํ้าสูงขึ้นสัตว์นํ้าจะมีกระบวนการเมตาโบลิซึมเพิ่มขึ้น กระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การหายใจ การกินอาหาร การย่อยอาหาร และการขับถ่าย อุณหภูมินํ้าที่สูงหรือตํ่าเกินไปทำให้สัตว์นํ้าต้องใช้พลังงานในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมกระบวนการเมตาโบลิซึมของปลาลดลง
  • อุณหภูมิที่สูงเกินไปอัตราการย่อยอาหารจะเพิ่มขึ้นอาหารที่กินไปเคลื่อนผ่านลำไส้และถูกขับถ่ายออกมาเร็วทำให้ความสามารถในการย่อยอาหาร ประสิทธิภาพในการดูดซึมอาหารการเก็บกักไนโตรเจนและการนำอาหารไปใช้ประโยชน์ลดลง ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อลดลง
  • เมื่ออุณหภูมิตํ่าลง การทำงานของเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารลดลงอาหารที่ปลากินไปย่อยได้ช้า ทำให้ปลากินอาหารลดลงส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดลดลงหากอุณหภูมิลดลงมากอาจทำให้ระบบเอนไซม์ และระบบหายใจปลาล้มเหลว จนทำให้ปลาตายได้

การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและคุณภาพน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลต่อปลาอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของนํ้า ส่งผลต่อการแพร่กระจายการเปลี่ยนแปลงชนิดและจำนวนแบคทีเรียไวรัส และปรสิตในการเกิดโรคสัตว์นํ้า อุณหภูมิที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์นํ้าตํ่าลงส่งผลต่อสุขภาพและการติดเชื้อของสัตว์นํ้า

น้ำมีสีแดงขุ่น ไหลเร็ว และออกซิเจนในน้ำมีน้อย ทำให้ปลาปรับตัวไม่ทัน ปลาก็จะตายเนื่องจาก อ่อนแอปรับสภาพไม่ทัน เกิดการน็อค รวมทั้งการได้รับเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ถูกชะล้างมากับดินจากแหล่งรับน้ำต่างๆ ก็ทำให้ปลาป่วยและตายได้เช่นกัน และผลกระทบที่เกษตรกรได้รับ

  • ปลาน็อคน้ำ คือ การขาดออกซิเจนในน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้ปลาตายได้คราวละมากๆ ในระยะเวลาสั้น ซึ่งความสูญเสียอาจจะสูงถึง 100% ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
  • จับปลาก่อนกำหนด บางรายก็ได้เร่งจับปลาขายก่อนกำหนด และหยุดเลี้ยงปลากระชังชั่วคราวแล้วรอให้สภาพน้ำกลับมาดีเหมือนเดิมแล้วค่อยเริ่มเลี้ยงปลาอีกครั้ง

เพื่อป้องกันและลดความเสียหายในช่วงน้ำแดง จึงแนะนำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลารับมือดังนี้

1.การจัดการการให้อาหาร

ปัญหาน้ำแดงเกิดขึ้นกะทันหัน จะส่งผลทำให้ปลากินอาหารลดลงในช่วง 2-3 วัน แต่หลังจากปรับตัวได้จะเข้าสู่ปกติ เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี และให้ในปริมาณที่เหมาะสมลดปริมาณอาหารต่อวัน หรือลดความถี่ในการให้ สังเกตการกินอาหารของปลา ควรให้อาหารเท่าที่ปลากินได้ โดยต้องให้กินให้หมดอย่าให้เหลือลอยน้ำ ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย และเป็นการช่วยให้สัตว์น้ำใช้พลังงานน้อยลง

2.การติดตั้งหรือเพิ่มเครื่องให้อากาศ    

รูปแบบเครื่องให้อากาศขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น แบบใบพัดตีน้ำ แบบหัวให้อากาศใต้น้ำ หรือแบบสเปย์พ่นน้ำ ตะกอนแขวนลอยซึ่งเกิดจากการชะหน้าดินของน้ำฝน ตะกอนจะฟุ้งกระจาย ซึ่งสร้างปัญหาเกี่ยวกับเหงือกปลาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน จึงต้องมีการช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

3.การแขวนเกลือเพื่อลดความเครียดและเร่งการฟื้นตัว

เมื่อคุณภาพน้ำหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ปลาจะสูญเสียเกลือแร่ออกจากร่างกายมากกว่าปกติ ปลาจึงต้องการวิตามินแร่ธาตุในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อใช้ในปรับตัว ปรับสมดุลเกลือแร่ ฟื้นฟูร่างกายและเสริมความแช็งแรงให้ผิวหนังและเกล็ด การแขวนขวดเกลือในกระชัง ใช้ขวดน้ำขนาด 1.5 หรือ 5 ลิตร คว่ำขวดลง เจาะก้นขวดใส่เกลือและยังมีฝาปิด เจาะรูที่ฝาหนึ่งรูให้เกลือละลายออก แขวนกลางกระชัง 2-3 ขวด/กระชัง

4.เสริมวิตามิน สารกระตุ้นภูมิ หรือโปรไบโอติก

เสริมวิตามินซีในอาหาร อาจใช้ควบคู่กับโปรไบโอติค/เบต้ากลูแคน ช่วยลดผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ช่วยให้ระบบกำจัดสารพิษได้ดีขึ้น และปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกำหนดความต้านทานโรคและสุขภาพของสัตว์ ควรให้สารเสริมภูมิคุ้มกันผสมอาหาร สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นประจำทุกสัปดาห์ เสริมวิตามินซีในอาหาร 3-5 กรัม/อาหาร 1 กก.

5.หมั่นทำความสะอาดและดูแลกระชัง

ทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้น เช่น การขัดกระชัง กำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ซึ่งจะช่วยลดการกีดขวางการไหลของน้ำผ่านกระชัง ที่จะทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง และยังเป็นการกำจัดพวกปรสิตที่เกาะติดตามกระชัง

6.หมั่นสังเกตอาการและพฤติกรรมของปลา

การที่ระดับความเครียดเพิ่มขึ้นนั้นจะมีผลต่อการติดเชื้อโรคต่างๆในสัตว์น้ำ การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพนั้น จะรักษาตามสาเหตุของโรคที่เกิด ด้วยการส่งตรวจวินิจฉัยโรคและใช้ยารักษาได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องสังเกตอาหารและความผิดปกติของปลาเบื้องต้น เช่น

  • ปลามีอาการเซื่องซึมผิดปกติ
  • มีบาดแผล บวมแดง จุดขาวกระจายทั่วลำตัว
  • ปลาว่ายน้ำกระตุกเป็นพักๆ ว่ายแฉลบถูตัวกับกระชัง ว่ายน้ำหมุนควง ทรงตัวผิดปกติ
  • ครีบและหางตกเลือด หรือเปื่อยยุ่ย

กรณีที่สัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

เอกสารอ้างอิง

กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง. การรับมือในช่วงสภาพอากาศแปรปรวน. เข้าถึงจาก   https://www.bangkaeo.go.th/news/doc_download/a_180920_133255.pdf

ดร.ประพันศักดิ์ ศีรษะภูม. 2560. ผลกระทบของความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์     น้ำและแนวทางบริหารจัดการ. คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ผลกระทบจากสภาพอากาศและฤดูกาลต่อคุณภาพนํ้าในบ่อเลี้ยงสัตว์นํ้า. คณะเทคโนโลยีการประมงและ   ทรัพยากรทางนํ้า มหาวิทยาลัยแม่โจ้. หน่วยวิจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เข้าถึงจาก http://resjournal.kku.ac.th/abstract/19_5_12.pdf.