Articles
โรคระบบทางเดินอาหารในไก่ที่สำคัญ
แนวทางป้องกันและควบคุมโรคโรคระบบทางเดินอาหารในไก่ที่สำคัญ
เรียบเรียงโดย น.สพ.ธนวัฒน์ ฤกษ์อุดม
บริการวิชาการสัตว์ปีก
โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะได้แก่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะบด กระเพาะแท้ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือพยาธิ สารพิษที่ถูกผลิตโดยเชื้อโรคบางชนิดและสารพิษจากอาหารก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้การจัดการที่ไม่เหมาะสมเช่น อุณหภูมิในโรงเรือนที่สูงเกินไปทำให้ไก่อยู่ในสภาวะเครียด หรือพนักงานบกพร่องในการฆ่าเชื้อน้ำสำหรับให้ไก่กินและไม่มีการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ให้น้ำก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของไก่เช่นเดียวกัน ซึ่งมีผลต่อผลผลิตไข่ในไก่ไข่และการเจริญเติบโตของไก่เนื้อเป็นปัญหากวนใจเกษตรกรอยู่เสมอ โดยโรคระบบทางเดินอาหารในไก่ที่พบได้บ่อย เช่น โรคบิด โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย และสภาวะไก่ถ่ายเหลวเป็นน้ำ เป็นต้น
โรคบิด
- เกิดจากการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวในสกุลอัยเมอเรีย ปัจจุบันชนิดที่พบและมีความสำคัญในไก่มี 7 ชนิด เป็นโรคที่มีผลทำลายเยื่อเมือกของลำไส้ ทำให้ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกหรือเป็นเลือด
- ในไก่เนื้อมักพบโรคช่วงระหว่าง 3-6 สัปดาห์ ในไก่ไข่หรือพ่อแม่พันธุ์พบในช่วงไก่รุ่นที่เลี้ยงบนพื้น
- ชนิดของอัยเมอเรีย 4 ชนิด ที่พบได้บ่อยในไก่ ได้แก่
- อี.เทเนลลา
- อวัยวะที่พบรอยโรคคือ ไส้ตัน
- ลักษณะรอยโรคที่พบคือ หนาตัว พบเลือดออกและเศษชิ้นเนื้อตายอยู่ภายใน
- อี.อะเซอร์วูลินา
- อวัยวะที่พบรอยโรคคือ ลำไส้เล็กส่วนต้น
- ลักษณะรอยโรคที่พบคือ แถบสีขาวของลำไส้คล้ายขั้นบันไดและผนังลำไส้หนาตัว
- อี.เนคาทริกซ์
- อวัยวะที่พบรอยโรคคือ ลำไส้เล็กส่วนกลาง
- ลักษณะรอยโรคที่พบคือ สังเกตุจากภายนอกลำไส้พบ ลำไส้ขยายตัวพบจุดเนื้อตายสีขาวและจุดเลือดออกแบบกระจาย
- อี.แมกซิมา
- อวัยวะที่พบรอยโรคคือ ลำไส้เล็กส่วนกลาง
- ลักษณะรอยโรคที่พบคือ ลำไส้พอง ผนังลำไส้หนาตัว พบของเหลวในลำไส้มีสีส้ม หรือสีชมพู มีความรุนแรงน้อยกว่า อี.เนคาทริกซ์
- อี.เทเนลลา
- การป้องกันสามารถทำได้โดยการให้วัคซีนซึ่งนิยมทำในไก่พันธุ์เนื่องจากเลี้ยงอยู่บนพื้นตลอดช่วงอายุ ในไก่ไข่อาจให้วัคซีนหรือควบคุมโดยการใช้ยาผสมอาหาร ส่วนไก่เนื้อการให้วัคซีนค่อนข้างต่ำทั้งนี้การคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมโดยดูแลด้านการสุขาภิบาลพื้นฐานยังเป็นเรื่องสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงวัสดุรองพื้นชื้นดูแลวัสดุรองพื้นให้แห้งอยู่เสมอเพื่อช่วยลดจำนวนโอโอซิสต์ในสิ่งแวดล้อม
และจะต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเข้มข้นกรณีพบปัญหาบิดในรุ่นการเลี้ยงก่อนหน้า
ภาพแสดงรอยโรคของลำไส้เล็กส่วนต้นจากการติดเชื้ออี.อะเซอร์วูลินา
ภาพแสดงรอยโรคของลำไส้เล็กส่วนกลางจากการติดเชื้ออี.แมกซิมา
ภาพแสดงรอยโรคของลำไส้เล็กส่วนกลางจากการติดเชื้ออี.เนคาทริกซ์
ภาพแสดงรอยโรคที่ไส้ตันจากการติดเชื้ออี.เทเนลลา
โรคลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย
- เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ เป็นเชื้อที่พบได้ปกติในลำไส้ใหญ่และไส้ตันซึ่งอยู่ในภาวะสมดุลธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อไก่ แต่เมื่อสมดุลเปลี่ยนแปลงไป เช่นจากการติดเชื้อบิด สิ่งแวดล้อมในโรงเรือนไม่เหมาะสม คุณภาพของอาหารแย่ลง หรือสภาพการถูกกดภูมิคุ้มกันของไก่จากโรคบางชนิด จึงอาจทำให้เกิดรอยโรคที่ผนังของสำไส้เล็กได้
- จะพบไก่กินอาหารได้น้อยลงหรือไม่กินอาหาร ท้องเสีย โดยสิ่งขับถ่ายมีสีน้ำตาลเข้ม พบไก่ตายสูงมากกว่าปกติ โดยมักพบภายหลังไก่มีปัญหาลำไส้อักเสบหรือเป็นโรคบิด
ภาพแสดงรอยโรคของลำไส้อักเสบแบบมีเนื้อตาย จะพบลำไส้ขยายตัว มีการลอกหลุดของเนื้อเยื่อผนังลำไส้
สภาวะไก่ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- เกิดจากลำไส้มีการบีบตัวบ่อยครั้งมากกว่าปกติ ทำให้ของเหลวดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง หรืออาจมาจากไก่กินน้ำเกินความต้องการของร่างกาย เช่นกรณีที่เป็นช่วงอากาศร้อน ปัจจัยที่เกี่ยวกับน้ำเช่น คุณภาพน้ำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น อาหารมีโปรตีนย่อยยากสูง มีแร่ธาตุในอาหารมาก (โซเดียม โปตัสเซียม คลอไรด์ และเกลือ) นอกจากนี้การให้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์เป็นเวลานานจะส่งผลกระทบทำให้เสียความสมดุลของเชื้อปกติในลำไส้ ทำให้เกิดท้องเสียตามมาได้ หรืออาจจะเป็นการถ่ายเหลวในไก่ไข่ช่วงก่อนให้ผลผลิตสูงสุดซึ่งสามารถพบได้เช่นกัน
- การแก้ไขควรวิเคราะห์หาต้นเหตุและแก้ปัญหาร่วมกับจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมอยู่เสมอ
เอกสารอ้างอิง
ศาสตรจารย์น.สพ.ดร.จิโรจ ศศิปรียจันทร์//2553.// โรคสำคัญในสัตว์ปีก.//156-158,177-183,219-221.
Donal P.Conway and M.Elizabeth McKenzie//2007.//Poultry Coccidiosis Diagnostic and Testing Procedure third edition.//19,23,27,33.