Articles
เลี้ยงปลาหน้าร้อนให้ปลอดโรค
แนวทางป้องกันและควบคุมโรคโรคสัตว์น้ำที่สำคัญช่วงหน้าร้อนและแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
หลายๆ ท่าน อาจจะมีคำถามว่าในอดีตที่ผ่านมาเราเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคหรือความเสียหายเกิดขึ้นสักเท่าไร แต่ทำไมในระยะหลังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอเข้าสู่หน้าร้อนทีไร สัตว์น้ำมักจะน๊อคหรือป่วยตายครั้งละมากๆ สร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าในปัจจุบันการเลี้ยงได้พัฒนาขึ้น ผู้เลี้ยงมีประสบการณ์สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้เก่งขึ้น ปล่อยสัตว์น้ำหนาแน่นมากขึ้น เมื่อเลี้ยงหนาแน่น การกินอาหารก็เพิ่มขึ้น ขับถ่ายของเสียมาก หากเราไม่มีระบบการจัดการของเสียในบ่อที่ดี ก็อาจทำให้คุณภาพน้ำเน่าเสียได้ง่าย นอกจากนี้พื้นก้นบ่อยังมีของเสียและเชื้อโรคสะสม ประกอบกับภาวะโลกร้อน ที่ร้อนและแล้งมากขึ้นทุกปี ในน้ำที่ร้อนนี้เอง สัตว์น้ำจะเครียด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อก่อโรคสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนสูง ทำให้เข้าก่อโรคสัตว์น้ำได้โดยง่าย เราจึงพบปัญหาสัตว์น้ำป่วยติดเชื้อตายตามมา
แม้ว่าเราจะมีการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาการเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าร้อนเป็นอย่างดี แต่เมื่อสัตว์น้ำป่วยแล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา เกษตรกรบ้านเรามักรักษาตามประสบการณ์ในอดีต หรือตามคำบอกเล่าของบ่อข้างเคียง โดยลืมนึกไปว่าการป่วยตายของบ่อเราอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ทำให้เลือกใช้ยาผิดประเภท โดสไม่ถึง ระยะเวลาไม่ครบ การรักษาจึงไม่ได้ผล
ในวันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่า โรคสัตว์น้ำที่สำคัญช่วงหน้าร้อนที่พบได้บ่อยมีโรคอะไรกันบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง และรับทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้องกัน
- ปรสิตภายนอก
ปรสิตภายนอกของสัตว์น้ำมีหลายกลุ่ม เช่น ปลิงใส เห็บระฆัง เห็บปลา หมัดสายฟ้า หนอนสมอ เป็นต้น มักสร้างความเสียหายชัดเจนในสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งอาจรุนแรงจนถึงการตายครั้งละมากๆ แต่ในสัตว์น้ำเต็มวัยจะเป็นปัจจัยรบกวนสร้างความเครียดนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้
อาการ : ปลามักจะว่ายน้ำผิดปกติ เอาลำตัวถูกับขอบกระชัง หรือวัสดุในน้ำ สีอาจจะเปลี่ยนไป มีเมือกมาก กินอาหารลดลง มีแผลตามลำตัว แผ่นปิดเหงือกขยับเร็วกว่าปกติ ซี่เหงือกเน่า เป็นต้น
รักษาโดย : สารเคมีกลุ่ม BKC หรือให้ยาถ่ายพยาธิ Ivermectin ผสมอาหารกินติดต่อกัน 7 วัน เดือนละ 1 ครั้ง
การป้องกัน : หมั่นทำความสะอาดกระชัง กำจัดขยะและพืชน้ำรอบๆ กระชัง หรือภายในบ่อ เพื่อตัดวงจรชีวิตปรสิต จุ่มฆ่าเชื้อลูกปลาก่อนปล่อยลงบ่อขุน ไม่เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป พักน้ำและฆ่าเชื้อก่อนนำน้ำเข้าบ่อ มีโปรแกรมถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกเดือนด้วย Ivermectin ผสมอาหารติดต่อกัน 7 วัน เดือนละครั้ง
- สเตรปโตคอคคัส
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิน้ำสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus spp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวก เชื้อนี้มาจากไหน เชื้อนี้เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำ เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ดีหลายเท่า ทำให้ภูมิคุ้มกันของปลาไม่อาจต้านทานได้ จึงเกิดการติดเชื้อตามมา
อาการ : ปลาจะว่ายควงสว่านที่ผิวน้ำ ตาปูดโปน ตกเลือด แคระแกร็น สีผิวเข้มขึ้น พบตุ่มสิวใต้คาง คางบวมแดง เลือดออกในสมอง กรณีติดเชื้อเรื้อรังอาจพบฝีใต้กล้ามเนื้อ
รักษาโดย : ให้ยาปฏิชีวนะผสมอาหาร Amoxycillin ซึ่งถือเป็น Drug of choice ของการรักษาโรคนี้ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียแกรมบวก หากไม่สามารถหา Amoxycillin ได้หรือมีปัญหาเชื้อดื้อยา ลำดับถัดไปจึงจะพิจารณายา Broad-spectrum ตัวอื่นๆ เช่น Enrofloxacin, Oxytetracyclin หรือ Sulfa-trimethoprim เป็นต้น
นอกจากนี้เราควรควบคุมสภาพแวดล้อม โดยปรับคุณภาพน้ำด้วยจุลินทรีย์กลุ่มบาซิลลัส ซับทิลิส สัปดาห์ละครั้ง เพื่อช่วยย่อยของเสียในน้ำ และโตแข่งขันกับเชื้อก่อโรค ควรเปิดเครื่องให้อากาศ เพื่อลดอุณหภูมิของน้ำ ลดปัญหาน้ำแยกชั้น และเสริมวิตามินซี 5 วัน ติดต่อกัน เพื่อเร่งการฟื้นตัวปลา
- แอโรโมแนส
พบได้ทุกช่วงวัย เป็นแบคทีเรียแกรมลบ เชื้อนี้เป็นเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic pathogen) มีปัจจัยโน้มนำจากปัญหาความเครียด คุณภาพน้ำเน่าเสีย มีสารอินทรีย์มาก เป็นต้น
อาการ : ตกเลือดใต้เกล็ด โคนครีบ โคนหาง ท้องบวม มีของเหลวสีเหลืองในช่องท้อง อวัยวะภายในเชื่อมรวมกันจากการอักเสบ เกล็ดพอง ในปลาดุกจะแสดงอาการกกหูบวม
รักษาโดย : ให้ยาปฏิชีวนะผสมอาหารประเภท Broad spectrum เช่น Enrofloxacin, Oxytetracyclin หรือ Sulfa-trimethoprim เป็นต้น วันละ 2 มื้อ นาน 7-10 วัน
การป้องกันโรค : ไม่เลี้ยงปลาหนาแน่น จำกัดอาหารให้ไม่เกินความต้องการ ควบคุมและรักษาคุณภาพน้ำ จัดทำระบบให้อากาศ แขวนเกลือในพื้นที่การเลี้ยง เสริมภูมิต้านทานโรคด้วยวิตามินซีหรือวิตามินรวม เป็นต้น
- แพลงค์ตอนดรอป (Plankton crash) หรือสีน้ำล้ม
มักพบช่วงที่พายุฤดูร้อนเข้า ทำให้อากาศปิด ฟ้าครึ้ม ฝนตกติดต่อกันมากกว่า 2 วัน แพลงค์ตอนจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เกิดปัญหาแพลงค์ตอนตายทั้งระบบ สีน้ำจะเปลี่ยนฉับพลันจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแดง ออกซิเจนจะหายไปจากระบบ ทำให้ปลาว่ายลอยหัวที่ผิวน้ำ บางส่วนน๊อคตาย สร้างความเสียหายมากในบ่อที่ไม่ได้เปิดเครื่องตีน้ำ เช่น บ่อปลานิล หรือบ่อปลาสลิด เป็นต้น มักพบปัญหาแพลงค์ตอนดรอปในบ่อที่มีค่าอัลคาไลนิตี้ต่ำ
การแก้ไข : เปิดเครื่องตีน้ำทันที เพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แก่ปลา แขวนเกลือเพื่อช่วยลดความเครียด เก็บปลาตายออกทั้งหมด เติมปูนโดโลไมต์หรือปูนมาร์ลเพื่อสร้างแพลงค์ตอนและเพิ่มค่าอัลคาไลนิตี้ อัตราการใส่ 25-50 กก./ไร่ ติดต่อกัน 2-4 วัน ละลายน้ำสาดตอนกลางคืนหลัง 3 ทุ่ม โดยปกติสีน้ำมักจะกลับมาเขียวโปร่งภายใน 4 วัน หากมีปัญหาค่าแอมโมเนียสูงให้จัดการเปลี่ยนถ่ายน้ำก่อนลงปูน
การป้องกัน : หมั่นตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำ มอร์นิเตอร์ค่าอัลคาไลนิตี้ให้อยู่ในระดับสูงกว่า 100 ppm จะช่วยลดปัญหาน้ำดรอปได้ หากค่าอัลคาไลนิตี้ต่ำให้หมั่นเติมปูนมาร์ลละลายน้ำสาดตอนกลางคืน จนกว่าค่าอัลคาไลนิตี้จะขึ้นมาในระดับที่ปลอดภัย
ในช่วงหน้าร้อนนี้ อยากจะฝากให้สังเกตความผิดปกติของสัตว์น้ำ และหมั่นตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำกัน อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้ว เราควรวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคทุกครั้ง หรือปรึกษาสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด และเลือกใช้ยาที่ตรงกับโรค เป็นยามีทะเบียนถูกต้อง มีฉลากบอกตัวยา และแหล่งผลิตที่ชัดเจน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น