มีนาคม 27, 2023

การบริหารจัดการวัคซีนละลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับไก่

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

การให้วัคซีนโดยวิธีการละลายน้ำเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการให้วัคซีน เนื่องจากไม่ต้องจับตัวไก่จึงทำให้ไก่เกิดความเครียดจากการให้วัคซีนน้อย ลดการใช้แรงงานคน อีกทั้งวัคซีนที่ให้โดยวิธีการละลายน้ำทั้งหมดเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ดังนั้นแม้วิธีการให้วัคซีนจะง่ายแต่ก็มีหลาย ๆ รายละเอียดที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การให้วัคซีนโดยวิธีการละลายน้ำแต่ละครั้งนั้นมีประสิทธิภาพ

  • การจัดเก็บวัคซีน
  • การขนส่งวัคซีนไปใช้งาน
  • คุณภาพน้ำที่นำมาใช้ในการละลายวัคซีน
  • วิธีการให้วัคซีนแบบละลายน้ำ
  • การเตรียมอุปกรณ์ให้น้ำ
  • การกระตุ้นให้ไก่กินวัคซีน
  • การตรวจสอบการได้รับวัคซีน

การจัดเก็บวัคซีน เนื่องจากวัคซีนเชื้อเป็นคือเชื้อที่ถูกทำให้อ่อนกำลังลงและมีความไวต่อสภาพแวดล้อมภายนอกมาก ดังนั้นจึงต้องคำนึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  1. อุณหภูมิจัดเก็บ : เก็บรักษาวัคซีนตามที่ผู้ผลิตวัคซีนแนะนำ ซึ่งปกติจะจัดเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 – 8OC ไม่เก็บวัคซีนในช่องแช่แข็ง ตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีนควรแยกออกต่างหากโดยไม่ใช้ร่วมกันกับการเก็บอาหารและเครื่องดื่มเพราะจะเป็นเหตุให้มีการเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ อันจะทำให้อุณหภูมิในการจัดเก็บไม่คงที่และส่งผลต่อความสามารถในการมีชีวิตรอดของเชื้อในวัคซีน
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด : เนื่องจากแสงแดดมีรังสี UV ซึ่งมีผลในการฆ่าเชื้อที่อยู่ในขวดวัคซีนได้ ดังนั้นตู้เย็นที่ใช้เก็บวัคซีนจึงควรป้องกันแสงสว่างจากภายนอกไม่ให้ผ่านเข้าไปสัมผัสกับขวดวัคซีนได้โดยตรงเกินไปอาจทำให้ไก่ได้รับวัคซีนไม่ครบโด๊สเพราะความเข้มข้นของวัคซีนเจือจางจากปริมาตรน้ำที่มากและเวลาการกินสารละลายวัคซีนที่นานขึ้นก็จะทำให้เชื้อวัคซีนบางส่วนตายไปหลังการละลาย ในบางครั้งอาจต้องทำการอดน้ำไก่หากพบว่าอุณหภูมิสภาพแวดล้อมต่ำแล้วไก่ไม่กระหายน้ำ

การขนส่งวัคซีนไปใช้งาน ก่อนนำวัคซีนไปใช้ต้องอ่านรายละเอียดของวัคซีนให้เข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนิดของเชื้อในวัคซีน ขนาด และวันหมดอายุ ส่วนการขนส่งนั้นก็เช่นเดียวกับการจัดเก็บวัคซีน คือ ภาชนะที่ใช้ในการขนส่งวัคซีนต้องมีอุณหภูมิในช่องจัดเก็บที่เย็นและไม่ปล่อยให้แสงแดดจากภายนอกเข้าไปสัมผัสกับวัคซีนได้โดยตรง

คุณภาพน้ำที่นำมาใช้ในการละลายวัคซีน น้ำที่ใช้ในการละลายวัคซีนควรเป็นน้ำที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับน้ำที่เราใช้ดื่ม มีอุณหภูมิที่เย็น (18 – 25OC) ปลอดภัยจากอันตรายทางกายภาพ เคมี และเชื้อก่อโรค เช่น ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ 5.5 – 7.5 มีการปนเปื้อนแร่ธาตุ (เหล็ก ทองแดง) ต่ำ และปราศจากสารฆ่าเชื้อหรือคลอรีน เพราะจะมีผลต่อการมีชีวิตรอดของเชื้อในวัคซีน และน้ำทั้งหมดที่ใช้ละลายวัคซีนให้ไก่กินควรใส่สารปรับสภาพน้ำ (stabilizer) เพื่อช่วยกำจัดคลอรีนที่ตกค้างอยู่ในน้ำรวมถึงปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการมีชีวิตรอดของเชื้อในวัคซีนอีกทั้งยังให้สีที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบการได้รับวัคซีนของไก่ได้อีกด้วย โดยควรละลายสารปรับสภาพน้ำก่อนที่จะนำน้ำนั้นมาละลายวัคซีนอย่างน้อย 10 นาที

วิธีการให้วัคซีนแบบละลายน้ำ มีหลาย ๆ รายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้

  1. ช่วงเวลาที่ให้วัคซีน : ควรให้วัคซีนละลายน้ำในช่วงเช้าหรือช่วงที่อากาศเย็นที่สุดของวันเพื่อลดผลกระทบจากความเครียดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน และไก่ที่จะให้วัคซีนควรมีสุขภาพที่ดี
  2. ระยะเวลาในการให้วัคซีน : ควรพิจารณาปริมาตรน้ำที่ใช้ในการละลายวัคซีนโดยให้ไก่กินหมดภายในระยะเวลา 1 – 2 ชั่วโมงเพื่อให้ไก่ทุกตัวได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เพราะหากไก่กินสารละลายวัคซีนหมดเร็วเกินไปอาจทำให้ไก่บางตัวที่มากินทีหลังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบโด๊ส หรือหากไก่ใช้เวลาในการกินสารละลายวัคซีนหมดนานเกินไปอาจทำให้ไก่ได้รับวัคซีนไม่ครบโด๊สเพราะความเข้มข้นของวัคซีนเจือจางจากปริมาตรน้ำที่มากและเวลาการกินสารละลายวัคซีนที่นานขึ้นก็จะทำให้เชื้อวัคซีนบางส่วนตายไปหลังการละลาย ในบางครั้งอาจต้องทำการอดน้ำไก่หากพบว่าอุณหภูมิสภาพแวดล้อมต่ำแล้วไก่ไม่กระหายน้ำ
  3. การละลายวัคซีน : เตรียมจำนวนวัคซีนให้เหมาะสมกับจำนวนไก่แล้วนำมาละลายใน stock solution ซึ่งเป็นน้ำซึ่งบรรจุอยู่ในถังผสมที่มีปริมาตร 5-10 ลิตร ก่อน ใช้อุปกรณ์คนวัคซีนจนละลายหมดและเข้ากันดี จากนั้นจึงเทลงในถังใบใหญ่ที่บรรจุน้ำที่จะใช้ผสมวัคซีนให้ไก่กินและคนให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง การผสมในลักษณะนี้จะช่วยให้วัคซีนมีการกระจายตัวในน้ำได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับการละลายวัคซีนในถังใหญ่เพียงขั้นตอนเดียว และภาชนะที่ใช้บรรจุสารละลายวัคซีนต้องป้องกันแสงแดดส่องไปโดนวัคซีนได้

การเตรียมอุปกรณ์ให้น้ำ  พิจารณาจำนวนของอุปกรณ์ให้น้ำให้เพียงพอเหมาะสมกับจำนวนไก่และมีการกระจายตำแหน่งการกินวัคซีนอย่างทั่วถึงเพื่อให้ไก่เข้ากินสารละลายวัคซีนได้ง่าย ทำความสะอาดหรือเปิดไล่น้ำที่ค้างอยู่ในระบบให้น้ำออกให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้ไปขัดขวางการเดินทางของสารละลายวัคซีนที่จะปล่อยเข้าไปในระบบให้น้ำ ยกอุปกรณ์ให้น้ำขึ้นในระดับที่ไก่ไม่สามารถกินน้ำได้ถึงหรือปิดไฟเพื่อป้องกันไก่กินสารละลายวัคซีนก่อนในช่วงที่ปล่อยให้สารละลายวัคซีนเดินทางไปในระบบให้น้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าวัคซีนบรรจุอยู่เต็มระบบให้น้ำโดยสามารถสังเกตได้จากปลายท่อระบบให้น้ำว่ามีสีของน้ำที่ผสมสารปรับสภาพน้ำไปถึงแล้วหรือไม่ จากนั้นจึงทำการปิดปลายท่อระบบให้น้ำและลดระดับลงมาหรือเปิดไฟเพื่อให้ไก่เข้ากินอย่างพร้อมเพรียงกัน

การกระตุ้นให้ไก่กินวัคซีน ผู้เลี้ยงต้องเดินตามแนวยาวของโรงเรือน 2 – 3 รอบ ตลอดระยะเวลาการให้วัคซีน เพื่อกระตุ้นให้ไก่ทั้งหมดลุกขึ้นไปกินสารละลายวัคซีน รวมถึงสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและทำการแก้ไขโดยทันที จากนั้นเมื่อไก่กินสารละลายวัคซีนหมดจึงให้น้ำสะอาดที่ไม่มีสารฆ่าเชื้อต่อไปอีก 24 ชั่วโมง

การตรวจสอบการได้รับวัคซีน ไก่ทุกตัว (ไม่น้อยกว่า 95% ของจำนวนไก่ทั้งหมด) ต้องได้รับวัคซีนที่ละลายในขนาด 1 โด๊สเป็นอย่างต่ำ โดยสามารถสังเกตจากสีของสารปรับสภาพน้ำที่เปื้อนอยู่ตามขนบริเวณคอ ลิ้น และกระเพาะพัก จากนั้นบันทึกข้อมูลการให้วัคซีนและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับไก่หรือขั้นตอนการให้วัคซีนและนำมาปรับใช้ในการให้วัคซีนครั้งต่อไป

จากรายละเอียดต่าง ๆ ข้างต้นทำให้เราได้เห็นแล้วว่าการให้วัคซีนด้วยวิธีการละลายน้ำนั้นแม้ว่าจะเป็นวิธีที่ง่ายแต่ก็มีหลาย ๆ รายละเอียดที่เราต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การให้วัคซีนในแต่ละครั้งนั้นมีประสิทธิภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ที่เราเลี้ยงได้อย่างเต็มที่