Articles
การจัดการฟาร์มโคนมอย่างมีประสิทธิภาพ
Knowledge ความรู้ทั่วไปการจัดการฟาร์มโคนมให้ได้ผลผลิตสูงสุดจำเป็นต้องอาศัยหลายปัจจัยที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านระบบสืบพันธุ์ การจัดการอาหาร การดูแลสุขภาพโค การดูแลสุขภาพกีบ รวมถึงการจัดการด้านเศรษฐศาสตร์ของฟาร์ม บทความนี้จะเน้นไปที่ปัจจัยสำคัญเบื้องต้นที่ทุกฟาร์มควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ได้แก่ การจัดการระบบสืบพันธุ์และการจัดการอาหาร
ทำไมการกินถึงสอดคล้องกับระบบสืบพันธุ์?
การจัดการอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของโค อาหารที่โคกินเข้าไปจะถูกแปลงเป็นพลังงานและนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของโค เช่น สำหรับการดำรงชีวิต กิจกรรมในแต่ละวัน และการสร้างน้ำนม ระบบสืบพันธุ์จะทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้โคกลับสัดหลังคลอดได้ช้าลงและไม่พร้อมผสมพันธุ์ในเวลาที่เหมาะสม
ทำไมโคถึงต้องการพลังงานสูงในช่วงหลังคลอดและช่วงให้นมระยะต้น?
1. การกินได้หลังคลอดต่ำ : หลังคลอดแม่โคมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ฮอร์โมน และเริ่มการผลิตน้ำนม แต่การกินอาหารของแม่โคจะลดลงในช่วงแรก โดยหลังคลอดจะกินได้เพียง 60% ของช่วงเดือนที่ 3
2. การให้นมระยะแรกที่สูง : โคนมจะเริ่มผลิตน้ำนมหลังคลอดและปริมาณจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดประมาณ 2 เดือนหลังคลอด ก่อนจะค่อย ๆ ลดลง ดังนั้นในช่วงระยะแรก การจัดการอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงเป็นสิ่งจำเป็น
หากแบ่งระยะการให้นมจากวันรีดนม ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะต้น คือรีดนมไม่เกิน 100 วันซึ่งเป็นช่วงที่วัวให้นมต่อวันสูงที่สุด
- ระยะกลาง คือรีดนม 100-200 วัน
- ระยะท้าย คือรีดนมมากกว่า 200 วัน คือระยะที่ให้นมต่อวันน้อยที่สุด
3. การสูญเสียน้ำหนักตัวหลังคลอด : ในช่วงให้นมระยะแรก โคจะสูญเสียน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว การควบคุมคะแนนสภาพร่างกาย (BCS) ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ช่วงให้นมระยะต้นควรมี BCS ที่ 2.5 – 3.0 และไม่ควรลดลงเกิน 1 คะแนนหลังคลอด
การจัดการอาหารที่เหมาะสมในแต่ละระยะ
การจัดการอาหารตามระยะการให้นมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมและรักษาสุขภาพของโคได้ เช่น
- ระยะต้น : ใช้อาหารที่มีโปรตีนและพลังงานสูง (โปรตีน 22%)
- ระยะกลาง : ใช้อาหารที่มีโปรตีนระดับปานกลาง (โปรตีน 18%)
- ระยะท้าย : ใช้อาหารที่มีโปรตีนและพลังงานน้อยลง (โปรตีน 16%)
การให้นมแต่ละระยะแบ่งอย่างไร?
1. แบ่งตามจำนวนวันรีดนม : แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะต้น คือรีดนมไม่เกิน 100 วันซึ่งเป็นช่วงที่วัวให้นมต่อวันสูงที่สุด
- ระยะกลาง คือรีดนม 100-200 วัน
- ระยะปลาย คือรีดนมมากกว่า 200 วัน คือระยะที่ให้นมต่อวันน้อยที่สุด
2. แบ่งตามปริมาณน้ำนม : แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- นมมาก คือ นมมากกว่า 20 kg/ตัว/วัน
- นมกลาง คือ นมอยู่ระหว่าง 15-20 kg/ตัว/วัน
- นมน้อย คือ นมน้อยกว่า 15 kg/ตัว/วัน
เมื่อเข้าใจการจัดการอาหารแล้ว มีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่เอื้อต่อการจัดการระบบสืบพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ?
การจดบันทึกข้อมูลและการตรวจระบบสืบพันธุ์
1. การจดบันทึกข้อมูลที่สำคัญ : ก่อนการจดบันทึกหลักสำคัญในฟาร์มวัวนมคือต้องสามารถจำแนกวัวแต่ละตัวได้ คือวัวทุกตัวต้องมีชื่อ หรือมีหมายเลขประจำตัว ส่วนข้อมูลที่สำคัญที่ควรจดบันทึกเป็น 2 อันดับแรก คือ วันคลอด และวันผสม เนื่องจากรายได้จากการเลี้ยงวัวนมมาจากการขายน้ำนม และวัวจะมีนมได้ต้องมาจากการคลอดลูก ดังนั้นวันคลอดจึงสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการแบ่งระยะวัวเพื่อง่ายต่อการจัดการอาหาร ส่วนวันผสมก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหากรู้วันผสม ก็สามารถกำหนดวันแห้งนม วันเตรียมคลอด และวันคลอดได้อย่างแม่นยำ รองรับการจัดการอาหารและระบบสืบพันธุ์ใน Lactation ถัดไปได้อย่างเหมาะสม
ส่วนการจดบันทึกอื่นๆ เช่น ลำดับท้อง วันที่เป็นสัด ปริมาณน้ำนม สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์และประสิทธิภาพผลผลิตน้ำนมภายในฟาร์ม เพื่อช่วยให้การจัดการฟาร์มมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
2. การตรวจระบบสืบพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ : ควรมีการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในกรณีต่อไปนี้
- หลังคลอด 30 วัน เพื่อตรวจความปกติและความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ เช่น การเข้าอู่ของมดลูก ภาวะมดลูกอักเสบ ภาวะถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น
- ไม่เป็นสัดหลังคลอดมากกว่า 60 วัน เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของรังไข่ และมดลูก เช่น ตรวจหารอยตกไข่ ภาวะเยื่อบุผนังมดลูกอักเสบ ภาวะถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น
- ตรวจท้อง หลังผสมมากกว่า 28 วัน (ใช้เครื่องอัลตราซาวน์)
ตรวจซ้ำกรณีที่ตรวจครั้งที่แล้วไม่ท้อง แต่ไม่มีประวัติการผสมใหม่เพื่อป้องกันความผิดพลาด และตรวจเช็คการทำงานของรังไข่
3. การใช้ฮอร์โมนเพิ่มประสิทธิภาพระบบสืบพันธุ์ : ฮอร์โมนมีกลุ่มไหนบ้าง เลือกใช้อย่างไรให้เหมาะสม กลุ่มฮอร์โมนหลักๆที่พบว่ามีการใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่
- อนุพันธ์ฮอร์โมน GnRH มีจุดประสงค์เพื่อ กระตุ้นการพัฒนาของ Follicle
- อนุพันธ์ Prostaglandin F2 alpha (PGF2α) มีจุดประสงค์เพื่อ สลายรอยตกไข่(CL)หรือสลายแหล่งสร้างฮอร์โมนที่ยับยั้งการตกไข่
การจัดการฟาร์มโคนมที่ดีต้องอาศัยความเข้าใจในปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งการจัดการอาหารและระบบสืบพันธุ์ เพื่อให้โคมีสุขภาพที่ดี ผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกำไรให้กับฟาร์มในระยะยาว